พูดถึง สังคมออนไลน์ สายบิวตี้ คงจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ Jeban.com

วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้มาฟังพี่จีน ผู้ก่อตั้ง Jeban แชร์เกี่ยวกับเรื่องการสร้างสังคมออนไลน์ หรือ Online Community เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ และเราก็เก็บสาระมาฝากกันในบล็อกนี้ค่ะ

วิธีสร้างสังคมออนไลน์ฉบับ Jeban

อรขอสรุป Key บทเรียนสำคัญมาให้ทุกคนได้อ่านกันง่ายๆ ประกอบไปด้วยเทคนิค 3 ข้อ

1. แตกหน่อคอมมูนิตี้

สิ่งที่ Jeban ทำในช่วงปีหลังๆ มานี้ ไม่ใช่การพยายามทำทุกอย่างภายใต้ชื่อแบรนด์หลักอย่าง Jeban.com เพียงอย่างเดียว แต่มีทิศทางการทำเพจ ทำกรุ๊ป แตกหน่อ Jeban ใหญ่ ออกเป็น Community ย่อยๆ ที่นับวันก็ยิ่ง Niche มากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค

Moderator ของงานอย่าง พี่เก่ง พี่โจ้ ถามคำถามเดียวกันกับที่เราสงสัยคือ ทำไมต้องแตกหลายๆ อัน ทำอันเดียวให้เข้มแข็งสุดๆ ไปเลยไม่ดีกว่าหรอ?

จากประสบการณ์ของพี่จีน กลยุทธ์การแตก Community ย่อยๆ ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่มากกว่า สร้าง Traffic และ Fan ให้กับ Jeban ได้มากกว่าการเป็นเว็บเดียวแต่พยายามพูดหลายเรื่อง

เพิ่งรู้ว่าทุกวันนี้ Jeban มีเพจและกลุ่มย่อยๆ ที่หลากหลาย ไม่ได้มีแต่เรื่องความสวยความงามอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ Lifestyle ที่หลากหลายของผู้หญิงแทน เช่น กลุ่มขายไตไปเกาหลี (สำหรับคนชอบเกาหลี) เพจ Jeban Arrival สำหรับรีวิวของออกใหม่โดยเฉพาะ สำหรับคนอยากตามข่าวสินค้า ไม่ได้สนใจดูคนอื่นรีวิว กลุ่มกินกรุงเทพ เป็นต้น

2. ปรับตัวเองให้เหมาะกับ Audience และ Platform

กลุ่ม Audience ของ Jeban ทุกวันนี้กับเมื่อสมัยเริ่มต้น 12 ปีที่แล้วนั้นแตกต่างกัน เจ้าของ Jeban ยังคงให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม Target รุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่นนั้นสิงใน Twitter มากกว่า รวมถึง Facebook ก็ปรับมาเน้น Facebook Group มากขึ้น

จึงมีการปรับตัวให้เหมาะกับคนแบบต่างๆ ในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Twitter จะเล่นคอนเทนต์ที่วัยรุ่นชอบ Facebook หรือเว็บไซต์ก็จะเล่นคอนเทนต์แบบอื่น

3. จงสร้าง Community ให้เกิดภายในทีมงานให้ได้ก่อน

ใครๆ ก็อยากมี Community แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสร้างได้ การทำให้คนรู้สึกผูกพันธ์กับกลุ่มๆ นึง เข้ามาอ่าน เข้ามาแสดงความคิดเห็น เข้ามาโพสต์ ทำยังไงถึงจะให้เกิดสิ่งนั้นได้?

พี่จีนมองว่าเหตุผลที่ทำให้ Jeban สามารถสร้าง Community ได้นั้นมาจากเรื่องทีมเป็นสำคัญ

Jeban ให้ความสำคัญกับทีม Community มาก ได้ยินมาว่าในจำนวนพนักงานทั้งหมด 27 คน มีอยู่ถึง 20 คนที่อยู่ในฝ่าย Community การ Assign บทบาทนั้นจะดูตาม Interest ของพนักงานคนนั้นๆ คนไหนชอบเรื่องอะไรก็ให้ดูแลและตอบคำถามในเรื่องนั้นๆ เช่น ชอบเรื่องเสื้อผ้า หรือชอบเรื่องลิปสติก ทีมของเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของ Community นั้นในชีวิตจริงของเขาด้วย ตัวองค์กรเอง แทบทุกคนในองค์กรก็เป็นคนที่ชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว มันทำให้พวกเขาคุยกับเพื่อนร่วมงาน แลกเปลี่ยนกันในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอในโลกความเป็นจริง แล้วก็เพียงแค่หยิบสิ่งที่ทีมคุยกันมาทำบนออนไลน์เท่านั้นเอง

สำหรับเราข้อ 3 น่าจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด Power ได้มากจริงๆ และด้วยความที่ทุกวันนี้ตัวเราเองไม่ได้ทำอุตสาหกรรมที่เป็นเชิงไลฟ์สไตล์ (ออกแนว B2B ซะมากกว่า) จึงมีโจทย์นี้ที่น่าคิดว่าจะสามารถทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้

คำแนะนำสำหรับคนอยากทำสังคมออนไลน์

พี่จีนมีฝากทิ้งท้ายไว้ประมาณสองเรื่อง

1. จงเอาตัวเองไปอยู่ในคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่ง แล้วเรียนรู้จากเขา

ถ้าอยากทำคอมมูนิตี้ ก็ต้องกระโดดเข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้ จากประสบกาณ์ของพี่จีน กลุ่มคอมมูนิตี้ที่เกี่ยวข้องกับการไดเอต ลดน้ำหนัก แทบทุกกลุ่มเลยจะเข้มแข็งและทำได้ดีมากๆ

คำว่าทำได้ดีมากๆ ก็คือ การที่กลุ่มนั้นมีตัวละคร ครบทั้ง 3 แบบ ไหลเวียนอยู่ตลอด

  • คนมือใหม่ที่ต้องการคำแนะนำ
  • คนเก่าที่อยู่มาก่อนแล้ว และพร้อมจะให้คำแนะนำ หรือคอยสร้างโพสต์อัปเดต
  • คนที่เป็นผู้รู้ หรือกูรู ที่สามารถมาช่วยตอบคำถามต่างๆ และดูแลความเรียบร้อยได้

3 กลุ่มคนนี้คือส่วนผสมสำคัญของสังคมออนไลน์

2. จงทำความเข้าใจเข้าใจว่าเวลาที่คุณเริ่มสนใจเรื่องอะไร (เป็นมือใหม่) คุณทำอะไรบ้าง

เพื่อเป็นการถอดรหัสว่าหากจะทำสังคมออนไลน์ขึ้น คอนเทนต์ไหน ช่องทางไหน ที่คนกำลังต้องการในเรื่องนั้นๆ


สุดท้ายนี้ เราคิดว่าการทำคอมมูนิตี้ออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่ก็คงไม่ยากเกินไปถ้าเลือกจับถูก Niche) สำหรับแบรนด์หรือใครก็ตามที่อยากทำ อาจจะเริ่มต้นทำของตนเองขึ้นมาก่อนตามคำแนะนำเหล่านี้ รวมไปถึงการเข้าร่วม Engage กับ Community ที่มีอยู่แล้วด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ

ขอจบก่อนเท่านี้ ไว้มีความรู้อะไรเพิ่มเติมจะมาอัปเดตอีกนะคะ 🙂