Wreck it Ralph เป็นหนังการ์ตูนแอนิเมชันในค่ายดิสนีย์ โดยภาคที่เราจะมารีวิวบทเรียนในครั้งนี้คือภาคสอง ที่มีชื่อภาคว่า Ralph Breaks The Internet (ราล์ฟตะลุยโลกอินเทอร์เน็ต)ในชีวิตนี้เคยดูหนังการ์ตูนมาหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่พอดูจบแล้ว หัวสมองก็พาย้อนถึงบทเรียนชีวิตสำคัญๆ หลายเรื่องที่เราได้เรียนรู้ตอนเป็นผู้ใหญ่

อันที่จริงในความเห็นของเรา หนังเรื่องนี้เหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กซะอีก เพราะเด็กดูแล้วน่าจะได้แต่ความสนุก แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ดูแล้วได้สะท้อนชีวิตเยอะเลย

Good to know: บล็อกนี้เหมาะที่สุดสำหรับคนที่ดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว แต่ถ้าคุณยังไม่ได้ดู ก็ขอบอกล่วงหน้าก่อนว่าเนื้อหาที่เราเขียนมันก็จะแอบสปอยล์เรื่องในหนังอยู่บ้างพอสมควร ถ้าคุณไม่ซีเรียสกับการอ่านสปอยล์ก่อน ก็เชิญอ่านต่อได้ค่ะ 🙂

Ralph Breaks The Internet กับ 5 บทเรียนชีวิตที่สะท้อนในหนัง

5 เรื่องที่มันแว่บเข้ามาในหัวอร หลังจากที่ดูหนังจบ ได้แก่

1. คนที่ต้องการความสุขพื้นฐาน กับคนที่ต้องการความท้าทาย…คนสองกลุ่มที่คุณจะได้เจอในโลกความเป็นจริง

ในชีวิตสมัยเรียน ปกติแล้วเรามักจะแยกเด็กออกเป็นไม่กี่ประเภท เด็กเรียน เด็กกิจกรรม เด็กมีวินัย เด็กเกเร เป็นต้น แต่หลังจากที่เราใช้ชีวิตทำงานมาซักพัก เราได้พบเจอกับคนที่หลากหลาย แต่เชื่อไหมว่าในความหลากหลายนั้นเอง ถ้าพูดถึงการแบ่งประเภทเรื่องงานจริงๆ แล้วเราพบว่าเราสามารถแบ่งคนทำงานออกเป็นได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • ผู้หลงใหลในความสุข ความสบายกายสบายใจ
  • ผู้หลงใหลในความก้าวหน้าและความทะเยอทะยาน

คนกลุ่มแรก อาจเรียกได้ว่าเป็นคนมีความพอเพียงในตัวเอง หากพูดถึงเรื่องงาน …เขาโอเคกับงานที่ทำอยู่เหมือนเดิมในทุกๆ วัน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบในทุกๆ วัน และไม่คิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตแล้ว ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ‘ราล์ฟ’ คือตัวแทนของคนกลุ่มนี้

ในขณะเดียวกัน ‘วาเนโลปี้’ เป็นตัวแทนของคนที่ทะเยอทะยาน ไม่ชอบความจำเจ และต้องการงานที่ท้าทาย เธอรู้สึกว่าการได้ปล่อยพลังอย่างเต็มที่ในการทำงานคือส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่สมบูรณ์ สิ่งที่หนังเรื่องนี้สะท้อน สุดท้ายแล้ว วาเนโลปี้ ยอมได้ที่จะไม่กลับไปที่เกมรถแข่งขนมหวานของเธอ และอยู่กับเกมใหม่ที่ท้าทายกว่า ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่รักหรือไม่ภักดีต่อเกมเดิม แต่เธอรักและภักดีต่อความต้องการเติบโตของตัวเองมากกว่า

องค์กรส่วนใหญ่มักจะอยากได้คนแบบ วาเนโลปี้ มาทำงานด้วย เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาและเติบโต แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรคาดหวังว่าวาเนโลปี้นั้นจะอยู่กับเราไปตลอดกาล

ในขณะเดียวกัน องค์กรเองก็ยังต้องการคนแบบ ราล์ฟ เช่นกัน เพราะเป็นคนที่จะอยู่กับเราได้ยาวนาน และมักจะเป็นคนที่สนุกสนานและทำให้คนรอบข้างมีความสุข

เราไม่คิดว่าใครดีกว่าใคร ทุกคนมีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แต่องค์กรที่สมบูรณ์คือองค์กรที่สามารถบาลานซ์คนแบบราล์ฟ และคนแบบวาเนโลปี้ในสัดส่วนที่กำลังดี รวมถึงในชีวิตจริง เราเองก็ควรบาลานซ์เรื่องการมีเพื่อนทั้งสองรูปแบบด้วยเช่นกัน

2. อย่าทำตัวเป็นเจ้าของกับเพื่อน/ครอบครัวของคุณ

สมัยเด็กๆ นั้นเรามีเพื่อนอยู่แค่ไม่กี่แบบ ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะคบกับเพื่อนที่คิดคล้ายๆ เรา ทำอะไรคล้ายๆ เรา อยู่ด้วยแล้วสบายใจสุดๆ ตอนเด็กๆ เราไม่เคยสนใจเรื่องการมีเพื่อนหลายคนเลย เราอยากมีเพื่อนซี้ที่สุดไม่กี่คนมากกว่า

…ราล์ฟ เองก็เป็นแบบนั้น เขามีความสุขที่สุดเมื่อได้อยู่กับวาเนโลปี้

ไปๆ มาๆ เขาเอาเพื่อนของเขากับความสุขของเขามาโยงเข้าด้วยกัน อะไรก็ตามที่เขาชอบหรือทำแล้วมีความสุข เขาเองก็คาดหวังว่าเพื่อนซี้ของเขาจะคิดเห็นแบบเดียวกัน ชอบเหมือนกันกับเขา มีความฝันแบบเดียวกันกับเขา

คนบางคนมองเห็นเพื่อน ครอบครัว หรือแฟน เป็นเหมือนสมบัติของตน และมักจะใส่ ‘ความคาดหวัง’ ลงไปว่าคนเหล่านี้จะต้องอยู่ข้างเดียวกันกับความคิดของเรา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังก็คือว่า สุดท้ายแล้ว ราล์ฟ พยายามที่จะอยากให้วาเนโลปี้อยู่ฝ่ายเดียวกับเขา …พยายามมากจนเกินไป จนกลายเป็นการทำร้ายกันแทน

ที่ดูแล้วอินเป็นพิเศษ คงเป็นเพราะสมัยมัธยมเราเองก็เคยได้รับบทเรียนในชีวิตไปเรื่องนึงในเรื่องคล้ายๆ กันนี้ พอโตขึ้นมา ตัวเราในตอนนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีเพื่อนหรือครอบครัวเป็นเหมือน One-stop service เรามีเพื่อนหลายแบบมากขึ้น บางคนเป็นเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนเรา แต่อาจจะมีความคิดเรื่องงานต่างกันโดยสิ้นเชิง บางคนเป็นเพื่อนที่มีความฝันคล้ายๆ กัน แต่นิสัยเองก็อาจจะต่างกันสุดขั้ว

คนที่ไม่ได้มีความฝันแบบเดียวกับเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเพื่อนเราไม่ได้

3. ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ยั่งยืน

ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ยั่งยืน ถ้าใครได้ดูในหนัง แก๊งแข่งรถสุดโฉดของหญิงแกร่ง ‘แชงก์’ ที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามในตอนแรก ตอนจบก็ได้กลายเป็นมิตรกัน หรืออย่างราล์ฟเอง ที่เป็นมิตรแท้ของวาเนโลปี้ ก็เคยเผลอคิดทำผิด จนเป็นการทำร้ายเพื่อนตัวเองเอา

ชีวิตจริงของเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ไม่มีใครที่ดีสุดหรือร้ายสุดๆ บางคนดีกับเราเวลาอยู่ต่อหน้า แล้วทำชั่วลับหลัง บางคนจะต่อหน้าหรือลับหลังก็ไม่น่ารักทั้งนั้น แต่พอเวลาผ่านไป เขาก็เติบโตขึ้นและกลายเป็นคนที่ดีขึ้นในเวลาต่อมา

สรุปคือ โกรธใครก็อย่าไปโกรธยาว รักใครก็อย่าไปรักจนเว่อร์ ปรัชญาชีวิตข้อนึงของเราและก็ได้สะท้อนไว้ในหนังเรื่องนี้อีกเช่นกัน

4. อย่าร้องไห้ให้กับคอมเมนต์บนโลกออนไลน์

ไม่รู้ว่ามีใครเคยร้องไห้กับคอมเมนต์บนโลกออนไลน์กันไหม …แต่เราเคย

ในหนังเรื่องนี้มีประโยคนึงที่ ‘เยสสส’ ตัวละครนึงในเรื่อง ได้สอนกับราล์ฟว่า ”It’s not about you, it’s about them (คนคอมเมนต์)” หรือก็คือการสอนในทำนองว่า ”คอมเมนต์พวกนั้นเขาไม่ได้คอมเมนต์เพราะคุณเป็นคุณ แต่พวกเขาคอมเมนต์เพื่อแค่ระบายอารมณ์หรือความคิดของตัวเอง”

เชื่อไหมว่าเพจ Content Shifu ที่เราทำเคยมีคนทักมาสอบถามว่า ”ทำยังไงดีคะ เขาเอารูปหนูไปโพสต์แล้วก็ด่าว่าหนูเสียๆ หายๆ ใหญ่เลย” (อันที่จริงแล้วเว็บเราไม่ใช่เว็บให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต แต่เหมือนจะชอบมีคนทักมาอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้ว่าทำไม มั่นใจได้ว่าเพจที่เป็นเชิงรับปรึกษาปัญหาชีวิตจริงๆ นี่ต้องเจอ Inbox ถล่มทลายแน่นอน)

เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวิต แต่คำแนะนำง่ายๆ ที่ให้ได้ก็คือ ”อย่าไปใส่ใจมันเลย” ใช้ประโยชน์ของออนไลน์อย่างเต็มที่ดีกว่า อย่าใส่ใจกับอะไรที่มันบ่นทอนพลังงานของเราเลยเนอะ (หรือถ้ามันเป็นเรื่องเท็จและสร้างความเสียหายจริงๆ สมัยนี้ก็เปิดกว้างเรื่องการฟ้องร้องผ่านกฏหมาย พรบ คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ควรดูตามความเหมาะสมกันไป)

5. ความเปราะบางนั้นเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้

คนที่มีความสุข จะชอบมอบความสุขให้กับคนอื่น ในขณะเดียวกัน คนที่มีความทุกข์ (แม้ว่าเขาจะเป็นคนดี) ก็มักจะเผลอคิดลบ คิดบั่นทอน จนเกิดผลกระทบต่อคนอื่น ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราไม่ชอบใครซักคน เรามักจะอยากลากคนอื่นมาร่วมนินทาคนๆ นั้นด้วย

คนที่จิดใจกำลังอ่อนแอ ก็มักจะคิดอะไรป่วยๆ พูดอะไรป่วยๆ แล้วก็ทำอะไรป่วยๆ และมันก็มักจะส่งต่อถึงคนรอบข้างได้เหมือนเชื้อไวรัส

ใน Wreck it Ralph 2 นี้เอง ความเปราะบางในจิตใจของตัวละคร ก็ส่งผลให้ไวรัสนั้นก็อปปี้ความอ่อนแอนั้น แล้วแพร่ต่อในวงกว้าง

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ มันไม่ผิดที่เราจะมีโมเมนต์ที่อ่อนแอ เปราะบางบ้าง แต่เราต้องรีบ Recover ตัวเองให้หายให้เร็วที่สุด เพราะสุดท้ายความเปราะบางของเรามันสามารถส่งผลกระทบต่อคนอื่นได้ (จริงๆ นะ)

ตาคุณแล้ว

อยากรู้ว่าคนที่ได้อ่านบล็อกนี้ คิดเห็นยังไงบ้างกับ 5 ข้อที่เราได้รวมมา อยากรู้ด้วยค่ะว่าคุณได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วหรือเปล่า ถ้าดูแล้วเห็นด้วยหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ดู รู้สึกยังไงกับบทความนี้ แชร์ความคิดเห็นได้เลยนะคะ 🙂