เบญจเพส อายุ 25

ถนนชีวิตที่ไม่ราบรื่นในวัยยี่สิบกว่าๆ…ว่าด้วยเรื่องความเชื่อ \”เบญจเพส\” ของไทยและ \”Quarter-Life Crisis\” ของตปท.

ตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราใช้ชีวิตอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ

เราเหมือนคนที่ขับรถแล้วเร่งสปีดได้อย่างเต็มที่ และสามารถไปได้ไกลค่อนข้างตรงกับความคาดหวังที่ตั้งใจ เหมือนกับว่าถนนที่เราขับอยู่นั้นค่อนข้างโล่งและเรียบเสมอกันตลอดสาย

กระทั่งประมาณช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ เราพบว่าตัวเองเจออะไรที่ติดขัดมากขึ้น คล้ายๆ กับว่าเจอถนนที่เริ่มขรุขระ จนทำให้ต้องจำกัดความเร็ว นำมาสู่ความคิดแวบๆ เข้ามาว่า \”หรือนี่จะเป็นช่วงคราวเคราะห์ของเรา?\”

เบญจเพส อายุ 25

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาของเรา เป็นช่วงอายุ 25 เข้าอายุ 26 ของเรา ตามตำรับคนไทยแล้ว ก็มักเรียกได้ว่าเป็นช่วง ‘เบญจเพส’ จากเดิมที่ไม่เคยสนใจเรื่องความเชื่อมาก่อนเลย ก็พาลเอาให้เริ่มสนใจศึกษามากยิ่งขึ้น

เราเขียนบทความนี้โดยมีความตั้งใจสองเรื่อง…

หนึ่งคืออยากลองสรุปข้อมูลเกี่ยวกับคำว่า ‘เบญจเพส’ ของไทยว่ามีความหมายอะไรบ้าง รวมถึงการค้นคว้าถึงเบญจเพสของต่างประเทศ ซึ่งทำให้เราค้นพบกับอีกคำที่ชื่อว่า \’Quarter-Life Crisis\’ และอยากลองมาเล่าให้ฟัง

สองคือการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว การพยายามเข้าใจสถานการณ์ และการปรับตัวของเราเอง

เบญจเพส คืออะไร (กันแน่นะ)

เบญจเพส คือความเชื่อที่ว่า ช่วงอายุ 25 ปี จะเป็นช่วงวัยที่อาจมีเคราะห์ หรือมีเหตุสำคัญในชีวิต  << จากที่อ่านมาทั้งหลายส่วนใหญ่จะเทกันให้นิยามในลักษณะนี้ โดยบ้างก็ระบุว่า คำว่า เบญจเพส นั้นแปลว่า \”ยี่สิบห้า\” เป็นคำที่แผลงจากศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต (อ้างอิงจาก Wikipedia)

บางคนก็บอกว่าจะไม่ได้เกิดแค่กับช่วง 25 อย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง 35, 45, 55

บ้างก็บอกเป็นอีกแนวเลย คือ ‘เบญจเพส’ มีที่มาจากคำว่า เบญจขันธ์ + อาเพศ (อ้างอิงจากบทความใน dailynews) โดย อาเพศ หมายถึงความแปรปรวนผิดปกติ ส่วนเบญจขันธ์ คือ ขันธ์ 5 หมายถึง ตัวตนของเราที่ประกอบขึ้นด้วย รูปธรรมหรือร่างกาย 1 ส่วน และส่วนที่เป็นนามธรรมอีก 4 ส่วน ได้แก่ อารมณ์ทุกข์สุขเศร้าหมอง ความจำได้หมายรู้ ความคิดอ่านตอบสนอง การปรุงแต่งแล้วเสื่อมถดถอย จึงกล่าวได้ว่าเป็นสภาวะความแปรปรวนหรือช่วงเคราะห์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเลข 25 แต่อย่างใด (ในบทความนั้นระบุว่าตัวเลขอายุที่จะเกิดเบญจเพส จะขึ้นอยู่กับวันเกิดในสัปดาห์ ซึ่งในเคสนี้เราเองก็ยังไม่แน่ใจซักทีเดียว)

ความคิดเห็นส่วนตัว: โดยส่วนตัวแล้วเราคิดว่าทั้งสองคำนิยามเองก็มีความน่าสนใจในตัวเองทั้งคู่ เรามีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่ไม่แน่ใจในทั้งสองนิยาม แต่ในบทความนี้เราอยากจะขอพูดถึงส่วนของช่วงอายุ 25 ปีก่อนนะคะ

เบญจเพส คืออายุ 24 เข้าอายุ 25 หรือ อายุ 25 เข้า 26 กันแน่?

บางคนบอกว่าเบญจเพสของเขาเกิดขึ้นในช่วงอายุ 24 เข้าอายุ 25 ปี บางคนก็บอกว่าเป็นช่วงอายุ 25 เข้า 26 (ในเคสของเราเอง เคยมีคนบอกเราเป็นช่วง 25 เข้า 26 รวมไปถึง 26 เข้า 27 ก็ยังเบญจเพสอยู่)

ความคิดเห็นส่วนตัว: เราว่าเรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเถียงกันเพราะสุดท้ายประโยชน์ของการตระหนักรู้เกี่ยวกับ เบญจเพส ก็เป็นเรื่องของ Guideline คร่าวๆ เพื่อบอกให้เราระมัดระวัง หรือคิดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

เบญจเพสของเรา

ในเคสของเรา เราอาจจะไม่ได้เจออุบัติเหตุหรือเจอเหตุการณ์อะไรร้ายแรงตามที่เขาว่ากัน แต่ก็พบว่าปีนี้ไม่ได้ราบรื่นหรือง่ายดายเหมือนที่ผ่านๆ มา เวลามีเรื่องดีเกิดขึ้น ก็มักจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ทำให้ไม่ค่อยจะมีช่วงเวลาให้ได้แฮปปี้ยาวๆ เอาซะเลย

เรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การเงิน สุขภาพกาย สุขภาพใจ กล่าวโดยรวมๆ แล้วทุกอย่าง (แม้จะไม่เลวร้าย) แต่ก็ล้วนยังไม่ค่อยสมหวังอย่างที่ตั้งใจ (ถ้าใครอยากรู้ลองทักมาถามกันส่วนตัวแล้วกันนะคะ)

จากเบญจเพส สู่ Quarter-Life Crisis

อันที่จริงแล้วเราเชื่อว่าเบญจเพสคงเกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เท่ากัน และ Trigger หลักจริงๆ แล้วคงไม่ใช่เรื่องของอายุหรือเรื่องของดวงหรือโชคชะตาเป็นหลัก

สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็น Trigger ที่แท้จริงของสถาวะเบญเพสในคนวัยแถวๆ 25 น่าจะเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่มักมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับคนอายุเท่านี้ เพราะเป็นช่วงที่เริ่มทำงานมีประสบการณ์มาซักพักแล้ว เป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น และเริ่มเจอสารพัดเรื่องทั้งเรื่องงาน ความรัก การเงิน ชีวิต ฯลฯ และความสารพัดเรื่องก็มีแนวโน้มว่ากำลังจะงอกขึ้นเรื่อยๆ

ในต่างประเทศนั้นไม่ได้มีคำว่าเบญจเพสเหมือนอย่างเรา (มีที่คล้ายๆ อยู่บ้างในแต่ละประเทศ เช่น เกาหลีคืออายุลงท้ายเลข 9) แต่มีคำศัพท์นึงของชาวฝรั่งนั้นที่เราคิดว่าน่าสนใจนั่นคือคำว่า \”Quarter-Life Crisis\”

Quarter-Life Crisis คืออะไร?

Quarter-Life หมายถึงช่วงอายุประมาณหนึ่งในสี่ของอายุขัยในชีวิต ในบริบททั่วไปจะหมายถึงช่วงอายุแถวๆ ยี่สิบกว่าไปจนถึงสามสิบ 

LinkedIn รายงานว่า 75% ของคนอายุ 25-33 ประสบกับสภาวะ Quarter-Life Crisis เพราะเป็นช่วงที่มีเรื่องอนาคตให้ต้องคิดเยอะ ในต่างประเทศนั้นได้นิยาม Quarter-Life Crisis เอาไว้ว่าดังนี้
Quarter-Life Crisis คือช่วงเวลาที่คนๆ นึงเฝ้าคิดถึงเรื่องการค้นหาเป้าหมายหรือความต้องการในชีวิต จนกระทั่งเกิดเป็นสภาวะความเครียด
Quarter-Life Crisis ของแต่ละคนนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป กราฟด้านล่างนี้ที่มาจากรายงานของ LinkedIn สรุปเกี่ยวกับสภาวะของแต่ละคน

quarter-life crisis

จะเห็นได้ว่า Quarter-Life Crisis ไม่ได้เน้นพูดถึงเคราะห์หรือชะตาโดยตรง แต่เน้นพูดถึงสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนๆ นึง หรือความรู้สึกของเขาเองต่อชีวิตเสียมากกว่า 

เราคือคนนึงที่มีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในตัวมนุษย์เรานั้นมีความเชื่อมโยงกันหมด หากจิตใจว้าวุ่น อารมณ์ก็จะแปรปรวน ร่างกายก็จะทรุดโทรม ชีวิตรวมๆ ก็จะดูพังไปซะหมด ในขณะเดียวกันหากบริหารให้ดีก็จะสามารถดีทั้งหมดได้ จนทำให้เรามีความเชื่อใหม่ว่า…
บางทีสิ่งที่นำมาสู่เคราะห์หรือเบญจเพสจริงๆ อาจเกิดจากปัจจัยหรือสภาวะภายในของแต่ละคนเองก็ได้

เปลี่ยน Quarter-Life Crisis เป็นพลังบวก

Quarter-Life Crisis สำหรับเราน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการชีวิต ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นหลายอย่าง จนเมื่อพยายามรับผิดชอบสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป ก็อาจบกพร่องในสิ่งอื่นๆ

รวมถึงสิ่งที่ตั้งใจมากๆ นั้นบางครั้งก็อาจไม่สัมฤทธ์ผลได้ตลอด อันเกิดมาได้จากหลายปัจจัย เช่น โลกเปลี่ยน เนื้องานเปลี่ยน เป้าหมายเปลี่ยน จนทำให้ต้องปรับตัว และอาจยังปรับได้ไม่ไวพอกับความเปลี่ยนแปลง
คราวเคราะห์หรืออะไรต่างๆ นานา บางทีอาจมาจากการที่คนๆ นึงจัดการมันเองได้ไม่ดีพอเองหรือเปล่า?
Deloitte เคยรายงานว่าทุกวันนี้ทักษะของคนเรามีอายุขัยที่จะใช้งานมันได้แค่ 5 ปี ก็จำเป็นต้อง Re-skill หรือได้ Skill ใหม่ๆ มา…แต่จากประสบการณ์ของเราเอง เราคิดว่าน่าจะมีอายุแค่ 3-4 ปีเท่านั้น  

ตอนนี้เราไม่ได้อายุ 25 อีกต่อไปแล้ว และเราเชื่อว่าถนนอันขรุขระนี้คงจะไม่อันตรธานหายไปทันทีที่อายุ 26 แต่เราเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองด้วย 
50% อาจเกิดจากดวงชะตา และอีก 50% อาจเกิดจากตัวเราเอง (เราเชื่อว่าอย่างนั้น)
สิ่งที่เราหมกมุ่นในช่วงนี้เป็นพิเศษคือ การค้นคว้าหาวิธีเอาชนะทั้งสอง 50% ด้านบนหนึ่งในสิ่งที่เราตั้งใจทำในช่วงนี้คือการพยายามหาเวลามาศึกษาทักษะใหม่ๆ มากขึ้น ทั้ง Hard Skills, Soft Skills, Life Skills (รวมไปถึงการทำสมาธิ) สำหรับ 50% หลัง และถ้ามีโอกาสก็อยากจะศึกษาเรื่องศาสตร์การเสริมดวงชะตา (สำหรับ 50% แรก) เพิ่มด้วย! : D

อีกครึ่งปีหรือหนึ่งปี เราหวังว่าจะมีโอกาสได้มาอัปเดตบล็อกนี้อีกครั้ง เพื่อเล่าว่าวิธีการแก้ของเราได้ผลหรือไม่อย่างไรบ้าง (หวังว่าถึงตอนนั้นจะยังมีคนอยากมาอ่านอีกครั้งนะ :))

How About You?

การที่คุณกดมาอ่านบทความนี้แปลว่าคุณอาจจะเป็นคนวัยว้าวุ่นเหมือนกัน หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็อาจจะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับชีวิตมาเหมือนกันใช่ไหมคะ? 

ถ้าคุณผ่านช่วงเบญจเพส หรือช่วง Quarter-Life Crisis มาแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง แล้วคุณทำยังไงต่อ? หากมีเรื่องที่แชร์ได้เล่าได้ คอมเมนต์มาเล่าสู่กันฟังที่ใต้บล็อกนี้ได้เลยนะคะ รับรองว่าอ่านและตอบแน่นอน 🙂

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

thTH