ใน workshop คลาสหนึ่ง ที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่สนใจ Startup ที่นั่นเองเราได้พบกับคุณน้าท่านหนึ่ง เขาขอคำแนะนำจากเรา และเล่าให้เราฟังเรื่องของเขาบ้างเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กๆ นั่น กลับทำให้เราปะติดปะต่อเรื่องได้ขึ้นมา มันคือเรื่องที่ว่าด้วย “ความปรารถนาในการเป็นเจ้าของ”
นักวิจัยหัวใจสตาร์ทอัพ?
เขาเล่าว่าเขาทำงานที่ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย) และบอกว่าปัญหาทุกวันนี้คือ นักวิจัยไม่ค่อยทำงานร่วมกัน เพราะต่างคนต่างก็ อยากเป็นเจ้าของงานวิจัย อยากสร้างผลงานของตัวเอง
“โอ๊ะ ถ้างั้นพวกเขาก็เหมือนกับสตาร์ทอัพเลยค่ะ” เราหลุดออกไปทันที สตาร์ทอัพที่อินกับการแก้ปัญหา ก็มีอยู่จริง แต่เราว่าลึกๆ แล้วส่วนใหญ่แล้วคนที่สนใจสตาร์ทอัพ คือคนที่อินกับ “ความอยากเป็นเจ้าของกิจการ”
เราเกิดความรู้สึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะโดยปกติแล้วเราจะรู้สึกว่า คนชอบสายวิชาการ (academic) กับคนชอบโลกธุรกิจจริง (real-world business) จะเป็นคนคนละประเภทกัน แต่จู่ๆ ก็มีจุดร่วมเดียวกันขึ้นมาเสียอย่างนั้น
มองไปมองมา ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ว่าสายงานของเขาคืออะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า คนยุคใหม่กำลังมีจิตวิทยาทางความคิดเหมือนๆ กัน คือเรื่องความอยากเป็นเจ้าของ ทั้งนักวิจัยและสตาร์ทอัพไม่ได้อยากทำงานเพื่อแก้โจทย์ปัญหาอย่างเดียว แต่อยากเป็นเจ้าของผลงาน
ยิ่งถ้าอยู่ในวงการสตาร์ทอัพ คำว่า Founder (ผู้ก่อตั้ง) หรือ Co-founder (ผู้ร่วมก่อตั้ง) เป็นศัพท์ตำแหน่งที่ใช้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติ หลายๆ คนที่ทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพ มักจะเคยถูกถามว่า “คุณใช่เจ้าของรึเปล่า?”
การต้องตอบว่า “ไม่ใช่เจ้าของค่ะ เป็นพนักงานเฉยๆ ค่ะ ฮ่าๆ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็อดถามคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า “แล้วฉันต้องตอบว่า ‘ไม่’ ไปจนถึงเมื่อไร? แล้วทำไมฉันจะทำเองบ้างไม่ได้”
ในเชิงตรรกะแล้ว “เจ้าของแล้วไงฟระ มันก็แค่ศัพท์คำนึง บทบาทแถมอีกบทบาทนึง” ก็จริง แต่ในเชิงอารมณ์แล้วบางที่มันก็ห้ามความคิดไม่ได้ ผู้บริหาร ใครๆก็เป็นได้ ถ้าทำงานไปถึงจุดนึง แต่คำว่าเจ้าของ หรือผู้ก่อตั้ง มันรอไม่ได้ ความคิดนี้ทำให้เราสติหลุดไปช่วงนึงเหมือนกันนะ ไม่ว่าเราจะอิน หรือมีความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของกับมันมากขนาดนั้น แต่นั่นมันก็แค่เราอินไปเองคนเดียวใช่ไหม ยังไงเราก็ไม่ใช่เจ้าของซักหน่อย…
สรุปเราต้องการหุ้นงั้นหรือ?
บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งมีนโยบายแบ่งหุ้นให้แก่พนักงาน เพื่อต้องการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นการจูงใจให้เขาอยากทำงานด้วยกันไปยาวๆ เพราะหนึ่งในความท้าทายอย่างใหญ่หลวงของสตาร์ทอัพในช่วงแรก ก็หนีไม่เรื่องของทีมงาน
วิธีนี้ใช้ได้ผล แต่ก็ไม่เสมอไป อยู่มาซักพัก เราก็มีโอกาสได้เห็น Co-founder ของบริษัทหลายที่ แยกทางกันไป บ้างก็แยกกลับไปทำงานประจำ บ้างก็แยกไปทำตัวอื่น บ้างก็แยกทางกันโดยดี บ้างก็แยกทางกันโดยแตกแยก ว่ากันว่ามีสตาร์ทอัพมากมายที่ไปไม่รอด ด้วยเหตุผลหุ้นส่วนแยกทางออกไปเช่นนี้
เพราะ ‘หุ้น’ หรือ ‘ความเป็นเจ้าของ’ ก็ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตเช่นกัน คนรุ่นใหม่ที่มีความแอคทีฟ จะหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองเสมอ ไม่จำเป็นต้องให้ความเป็นเจ้าของฉุดตัวเองไว้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่มากมาย ไม่สนใจอยากจะสานต่อธุรกิจของที่บ้านตัวเอง บางทีความเป็นเจ้าของก็ไม่สำคัญที่สุด
โลกนี้กำลังท้าทายมากยิ่งขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าขนลุกเหมือนกันนะคะ สรุปก็คือมีสถานการณ์ความเสี่ยงมากมายที่โลกธุรกิจต้องเผชิญ เช่น
- คนที่อาจจะยอมเป็นพนักงานอยู่กับคุณไปยาวๆ อาจจะไม่ใช่คนที่เก่ง และทำงานหนัก
- เพราะพนักงานที่ดี ทุ่มเท ทำงานหนัก คนแบบนี้มองหาโอกาสอื่นๆ ให้ตัวเองเป็น
- ในขณะเดียวกัน การพยายามให้เขาอยู่กับคุณ ด้วยการแบ่งหุ้น ก็ไม่ได้ใช้ได้ผล 100%
- ”ความปรารถนาอยากเป็นเจ้าของ” นั้นมีอยู่จริง แต่ ”ความปรารถนาในคุณค่าอื่นๆ ก็มี” สุดท้ายแล้ว วิธีการรับมือกับเรื่องนี้มันช่างซับซ้อน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ตัวเราเอง ยอมรับแบบตรงๆ ตัวเราเองเริ่มต้นสนใจสตาร์ทอัพ ก็ด้วยเหตุผลอยากเป็นเจ้าของกิจการ นั่นแหละ มันเริ่มต้นจากเหตุผลนี้ก่อน ถึงค่อยมีเหตุผลรองๆ อื่นๆ ตามมา
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เป็นคนที่ขยันทำงาน โดยไม่มีข้อแม้นะ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อเงิน แต่เราก็สามารถทำงานหนักได้ ตราบใดที่เรารู้สึกว่าเราได้รับและได้ให้คุณค่าอะไรบางอย่าง
เหมือนที่เรากำลังเขียนบทความนี้ขึ้นมาเฉยๆ ตอนตีหนึ่งตีสอง เขียนไปใครจะอ่านบ้างก็ไม่รู้ เหนื่อยแล้วก็จริงอยู่ แต่มันก็ยังอยากเขียน รู้สึกว่ามีคุณค่ากับตัวเอง และหวังว่ามันน่าจะมีคุณค่ากับคนอ่านบ้างไม่มากก็น้อย