หลายคนที่รู้จักกัน คงทราบดีว่าอรได้ร่วมก่อตั้ง Content Shifu ปลุกปั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ และใช้ชื่อนี้เป็นนามสกุลในวงการมานานถึง 6 ปีแล้ว

แต่ในตอนนี้เส้นทางนี้ก็ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ค่ะ (18 ก.ค. 2022) โดยอรได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ ออกจากการเป็นหุ้นส่วน และทุกบทบาทของ Content Shifu (รวมถึง Magnetolabs) และเป็นอันมีผลเรียบร้อยแล้ว

ธุรกิจจะยังดำเนินต่อไปปกติค่ะ อันที่จริง Content Shifu เติบโตขึ้นทุกปีมาตลอด การออกของอรเป็นเพียงเหตุผลส่วนตัวและการเขียนบล็อกนี้ก็คงไม่ได้อยากเน้นเนื้อหาเชิงธุรกิจ แต่อยากมาเขียนเป็นบันทึกความทรงจำครั้งสำคัญมากกว่า

มีเพื่อนๆ หลายคนถามอรว่า “เสียดายไหม” แน่นอนว่าก็ต้องมีเสียดายอยู่แล้ว คงคิดถึงทีม พาร์ทเนอร์ต่างๆ ลูกค้า และผู้สนับสนุนทุกคนน่าดู อันที่จริงอรมีความทรงจำดีๆ เกิดขึ้นหลายเรื่อง และที่ทำงานอยู่มายาวนานเท่านี้ได้ ก็เพราะแรงสนับสนุนจากทุกๆ คนจริงๆ ค่ะ

… 6 ปีนี่จะว่าไปก็เป็นระยะเวลาที่นานใช้ได้เลยนะ ระยะเวลาพอดิบพอดีต่อการเปลี่ยนแปลง และการเติบโตในช่วงสำคัญต่างๆ ในชีวิต….จากเด็ก ป.6 กลายเป็นเด็ก ม.6 / และจากอร วัย 23- 24 ในวันนั้น สู่อร ในวัย 29 ย่าง 30 ในวันนี้ มีเหตุการณ์ ความทรงจำ และบทเรียนต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ในวาระโอกาสสุดท้ายนี้ อรจึงอยากเขียนบล็อกนี้เพื่อบันทึกสิ่งที่เป็นความทรงจำสำคัญๆ ในเส้นทางที่ผ่านมา…และหวังว่าเรื่องราวและบทเรียนเหล่านี้ จะมีประโยชน์กับคนอ่านที่ได้แวะเวียนเข้ามาค่ะ

จุดเริ่มต้นของ อร กับ Content Shifu

เรายังไม่ค่อยได้เล่าเรื่องนี้เท่าไหร่ คนที่เคยทราบมาก่อนน่าจะมีน้อย อรมีเป้าหมายอยากทำเว็บคอนเทนต์ดีๆ ที่รวมเนื้อหาและ Resources ที่มีประโยชน์ในสายคอนเทนต์ / Content Marketing มาตั้งแต่ปี 2015 ค่ะ แรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นเพราะอรเองก็เป็นคนที่กระโดดเข้ามาในงานสายคอนเทนต์ (อรเริ่มทำงานเขียนคอนเทนต์และรับจ้างมาตั้งแต่ปี 2012) และเราแค่หวังว่าอยากให้มีแหล่งเนื้อหาความรู้ดีๆ ซักที่นึง ที่จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในวงการ

ก่อนจะมาก่อตั้ง Content Shifu อรเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์หนึ่ง ชื่อว่า XYZContent (นามสมมติ) ตอนนั้นเราได้รวมตัวกันกับเพื่อนและรุ่นน้อง ที่เป็น “สายคอนเทนต์” จากโครงการ Young Webmaster Camp ที่เราเคยได้เข้าร่วม ทั้งหมดประมาณ 5 คน เพื่อทำเว็บนี้ น่าเสียดายที่ตอนนั้นทำมาได้แค่แปบเดียวก็ตัดสินใจหยุดทำกันต่อ ด้วยเหตุผลอันเรียบง่ายคือพวกเราทุกคนต่างยุ่งกับงานและยุ่งๆ กับชีวิตส่วนตัวด้านอื่นกันอยู่แล้ว Passion Project เล็กๆ นี้ก็เลยต้องพับไปก่อน แต่อรยังค่อนข้างฝังใจกับเรื่องนี้เหมือนกัน

ที่ว่าฝังใจเพราะลึกๆ อรรู้สึกว่าตัวเองพร้อมมากแล้วที่จะทำมัน ทั้งไอเดีย ทั้งเทคนิคและทักษะการทำเว็บคอนเทนต์เราก็พอมีแล้ว ที่ยังขาดอยู่ น่าจะเป็นเรื่อง “ความดื้อรั้น” ที่จะต้องดันทุรังทำมันให้จงได้ หรือถ้าให้เปรียบเทียบ เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวน็อตที่เสียบลงในช่องว่างในตลาดนี้ได้ค่อนข้างพอดีแล้ว เอาจริงๆ เราว่าเราแค่ต้องการไขควงมาไขให้แน่น ให้ลงล็อคเข้าที่เข้าทางขึ้น อารมณ์ตอนนั้นคืออยากได้ใครซักคนมาถือโซ่ แส้ กุญแจมือ มา ‘ฟาด!’ มาบังคับให้เราใช้ศักยภาพให้เต็มที่หน่อย! 55

ในเวลาต่อมาเราได้พบกับคุณแบงค์ ซึ่งมีไอเดียตั้งต้นที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันกับสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้วแถมไอเดียใหม่ๆ บางส่วนที่เราได้เพิ่ม และจุดแข็งหลักของเขาคือเป็นคนที่ขยัน และตามงานเก่ง จะว่าไปแล้ว จุดเริ่มต้นมันง่ายและเร็วมากๆ เลยค่ะ เพราะคนนึงก็ขยันอยู่แล้ว ส่วนคนนึงก็พร้อมทำมากๆ อยู่แล้ว ถามว่าเร็วแค่ไหน? ถ้าอรจำไม่ผิด เราน่าจะคุยกันประมาณเดือนเมษ. จากนั้น พ.ค. ถึง ก.ค. ก็คือทำเว็บและทำคอนเทนต์ล่วงหน้ากัน และแล้วส.ค. 2016 ก็คือช่วงเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยที่ทั้งสองคนก็คือมีภารกิจหลักอื่นๆ กันอยู่ อย่างอรก็คือทำงานประจำอยู่ และ Content Shifu เป็น Passion Project ที่ทำหลังเลิกงาน ก็คือช่วงค่ำๆ กับช่วงเสาร์อาทิตย์เท่านั้น

…ตั้งแต่นั้นมา อรก็แทบจะไม่ได้รู้จักกับคำว่า วันหยุด อีกเลย 555

บทเรียนจากการเริ่มต้น

ถ้าจะฝากอะไรบางอย่างให้กับคนที่มาอ่าน อรคิดว่าอรอยากฝากสองเรื่องค่ะ

1. “วัตถุดิบที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง คือ Dedication” อรคิดว่า อรคนแรกที่ทำ XYZContent กับอรคนที่ทำ Content Shifu นั้น ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันเลย ทักษะก็พอๆ กันแน่นอนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างมากคือเรื่อง Dedication ความเสียสละ แรงกาย แรงใจ เวลาส่วนตัว และสารพัด เพื่อทุ่มให้กับมันอย่างสุดตัว เราไม่จำเป็นต้องเก่งมาจากไหนตั้งแต่วันแรก แต่การเริ่มต้นอะไรบางอย่างและตั้งใจจริง จะพาเราไปสู่บันไดที่เก่งและเห็นผลของความสำเร็จขึ้นมาได้

2.“ช่วงเวลาเริ่มต้นไม่ได้ยาก แต่ช่วงเวลาจากลานั้น…ยากกว่ามาก” ถึงแม้ในข้อ 1. อรจะเขียนกึ่งเชียร์ว่าการเริ่มต้นไม่ยาก แต่ถ้าจะเลือกทำอะไรบางอย่าง ก็ต้องมีสติและถี่ถ้วนให้ดีเหมือนกัน

ยิ่งมันเริ่มต้นได้ง่ายเท่าไหร่ มันอาจจะ Too good to be true ระหว่างทางมีแนวโน้มว่าจะยากกว่า หรืออีกคำอธิบายคือ สิ่งที่เริ่มได้ง่าย แปลว่า Barrier to entry ต่ำ ระหว่างทางก็จะต้องเหนื่อยในการปรับตัวมากกว่านั่นเอง

จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ช่วงเริ่มต้นคือง่ายสุดแล้ว แต่ระหว่างทางยากกว่า และตอนท้ายที่สุดนี้คือช่วงเวลาที่ยากที่สุด

เราเพิ่งได้อ่านหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People เมื่อ 2 ปีก่อนนี้เอง เป็นหนังสือที่ดีมากๆ และ Habit 2 ของเขา “Begin With The End in Mind” คือสิ่งที่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเผื่อให้ดี เสียดายมาเจอหนังสือเล่มนี้ช้าไปหน่อย

ช่วงเวลาหลังจากนั้น

2016: ปีแห่งการเริ่มต้น
สิงหาคม - เปิดตัวเว็บอย่างเป็นทางการ ได้รับ Feedback ดีมากๆ ไฟมา ขยันเต็มที่ พยายามเขียนบล็อกให้ได้สม่ำเสมอทุกสัปดาห์ และเริ่มมีแผนทำคอร์สเรียน
ธันวาคม - เปิดตัวคอร์สเรียนออนไลน์แรก คิดหลักสูตรเอง สอนเอง ตัดต่อเอง ขายเอง เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

2017: ปีแห่งความภาคภูมิใจ (และเหนื่อยล้า)
มกราคม - จัดงาน Meetup แรก ได้เป็น Speaker และเจอแฟนๆ ที่ติดตามในยุคแรก เริ่มมีงานสอน งาน Speaking ต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ แทบทุกเดือน หลังจากนั้นก็เริ่มมีร่วมงานกับทีมฟรีแลนซ์และพาร์ทเนอร์หลายๆ ท่าน ที่สมัครเข้ามาร่วมเขียนคอนเทนต์และร่วมสอนกับเรา หลายๆ ท่านเป็นซีเนียร์ที่เขียนคอนเทนต์มานานกว่าเราอีก แต่ก็ยังเชื่อมั่นและอยากร่วมงานกับเรา รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ จริงๆ ค่ะ

ตลอดทั้งปี Content Shifu ก็ยังคงเป็น Side Project ที่ทำนอกเวลางาน และอรยังคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำงานประจำและ Content Shifu ให้ได้อย่างดีที่สุด ต้องขอขอบคุณบริษัทที่เราทำงานด้วย อย่าง Techsauce และ G-Able ที่เชื่อมั่นในตัวเราว่า เราเชื่อใจได้และมีความรับผิดชอบ รวมถึง พี่ๆ ทั้งสองที่ เชื่อมั่นว่าถ้าอรทำงานหาประสบการณ์เยอะ อรเติบโตขึ้น บริษัทก็โตขึ้นด้วย แนวคิดนี้อรเองก็ยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้และเราพูดเสมอว่าสนับสนุนให้ทุกคนในทีมได้ลองทำอย่างอื่นนอกเวลางานกัน

2018: ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง
มีนาคม/เมษายน - เกิดการรวมบริษัทและดำเนินกิจการด้วยชื่อ Magnetolabs ตอนนั้นอรออกจากงานประจำแล้ว และตัดสินใจที่จะมาทำกิจการนี้อย่างเต็มตัว หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้เรียนรู้บทเรียนผู้ประกอบการหลายเรื่อง เรามีช่วยงานฝั่งเอเจนซีอยู่บ้าง แต่หน้าที่ความรับผิดชอบหลักก็คือ Content Shifu

2019: ปีแห่งการทบทวนและตัดสินใจ
ในหัวข้อ “คิดทบทวน” หลังจากนี้ จะเล่าถึงความคิดของเราในปีนี้

2020-2021: ปีแห่งความกังวล และการปลูกต้นกล้าใหม่

2022: ปีแห่งบทเรียนส่งท้าย

ปีที่ไม่ได้ลงรายละเอียด เราขอรวบมาเป็นตะกอนความคิดในหัวข้อต่อจากนี้ค่ะ

สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด (ฝันที่เป็นจริง)

ถ้าให้เลือกเรื่องที่ภูมิใจแค่ 4 เรื่อง เราขอเลือก 4 เรื่องนี้

1. ได้เป็นต้นแบบของเว็บคอนเทนต์สายคุณภาพ ในไทย

เรามีความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นเว็บไซต์สายคุณภาพมากขึ้น ช่วงเวลานั้นเราศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์ต่างประเทศเยอะและเรารู้สึกประทับใจในคุณภาพของเนื้อหาของหลายๆ เว็บที่เราได้เข้าไปอ่าน เนื้อหามันเยอะแต่ไม่เยอะเกินไป มันครบถ้วน มันตอบคำถามที่เราสงสัย มันมีประโยชน์ ใช้ได้จริง และได้อรรถรสด้วย ทำให้เราคิดว่า ทำไมเราถึงหาเว็บคุณภาพระดับแบบที่เราเห็นนี้ ได้ยากจัง?

Long-form Content มันเหนื่อยและใช้เวลาเยอะจริง แต่ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ? สุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาได้ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ หลายคนบอกเราว่า เวลานึกถึงตัวอย่างของ Case Studies เว็บคอนเทนต์คุณภาพในไทย ก็จะนึกถึง Content Shifu ซึ่งเราดีใจมากจริงๆ ที่ได้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจสำหรับเว็บไซต์อื่นๆ และทุกวันนี้เราเห็นเว็บสายคุณภาพมีเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย

2. ยกระดับวงการและเปลี่ยนแปลงวิถีการทำการตลาด

น่าจะกล่าวได้ว่าพวกเราเป็นเจ้าแรกที่เผยแพร่เรื่อง Inbound Marketing “อย่างจริงจัง” ความตั้งใจก็คืออยากจะสะกิดให้ธุรกิจและนักการตลาดหันมามองวิถีการตลาดแบบที่เน้นผลระยะยาวที่ดูยั่งยืนกว่า พวกเราอาจจะเป็นแค่ทีมงานเล็กๆ แต่เรารู้สึกว่าเราสามารถ สะกิด และสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความสนใจในแนวคิดนี้ได้จริงๆ

ตัวเราทำเองเราก็มองว่ามันดีจริงๆ (จะเล่าต่อในข้อ 3) มีคนได้เรียนรู้และเอาไปใช้และได้รับผลลัพธ์ที่ดี เราก็ดีใจ สิ่งนึงที่เราภูมิใจที่ได้ส่งเสริมเกี่ยวกับ Inbound คือ การที่แบรนด์หันมาสนใจและลงทุนกับการทำ Owned Media นั้น เราว่ามันมีส่วนกระตุ้นงานภาคบริการและงานภาคเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ผู้เล่นในวงการเองก็จะได้มีงานทำกันมากขึ้นและเติบโตด้วย จากการเติบโตของตลาดสายนี้ เช่น นักการตลาดและนักทำคอนเทนต์ มีงานมีตำแหน่งกันมากขึ้น, คน/บริษัท รับทำเว็บไซต์, บริษัทซอฟต์แวร์ CRM และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น - ถ้าเรามีส่วนช่วยทำให้ตลาดเติบโต ผู้บริโภคสนใจและต้องการ ผู้ให้บริการและเพื่อนร่วมวงการได้เติบโตกัน ตัวเราเองก็ได้เติบโตตามไปด้วย - แต่เอาจริง เราภูมิใจกับประเด็นภาพใหญ่ มากกว่าประเด็นภาพส่วนตัวอีกมั้งเนี่ย

3. ได้รับแรงสนับสนุนและผลตอบรับที่ดี / ลูกค้าและทีมที่ดี

เราว่าทุกๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ จะต้องเห็นความสำคัญของ “ลูกค้าผู้น่ารัก” กันแน่นอน ถ้าลูกค้าน่ารัก คนทำงานก็แฮปปี้ อะไรๆ ก็ดี ซึ่งลูกค้าผู้น่ารักที่ว่า โดยส่วนตัวเราคิดว่า ครึ่งนึงเป็นเรื่องของคนและองค์กรนั้นๆ แต่อีกครึ่งนึง เป็นเรื่องของเรา ..ถ้าลูกค้าเฉยๆกับเราหรือไม่รู้จักไม่แคร์เรา เขาอาจจะทำตัวยังไงก็ได้ แต่ถ้าลูกค้ารู้จักเรา เห็นเราบ่อยๆ เชื่อใจเรา นับถือเรา ชอบเรา เขาก็ย่อมน่ารักกับเราอยู่แล้ว ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ Inbound ก็คือการมี Branding และช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้ามารู้จักและรู้สึกสนิทสนมกับเราได้ แม้ว่าอาจจะไม่เคยเจอหน้ากัน

เป้าหมายของอรที่ทำ Content Shifu คืออยากให้เราเป็นแบรนด์แบบนั้น ที่ผ่านมาก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าแทบจะเจอแต่ลูกค้าที่น่ารักมาโดยตลอด ถ้าถามว่าเคยมีปัญหาอะไรกับลูกค้าไหม ก็คงมีแบบเล็กน้อยมากๆ มั้ง ไม่เคยหนักอกหรือนอนไม่หลับเพราะเรื่องลูกค้า เอาเป็นว่าที่นึกออกก็มีแต่โมเมนต์ดีๆ ในความทรงจำเต็มไปหมด

พูดถึงลูกค้าไปแล้ว เราอยากพูดถึงทีมด้วย เรามีโอกาสได้มีทีมที่ดีหลายคนเลย เราพบว่ายิ่งพวกเขารู้จักเรา (Content Shifu) มาก่อนอยู่แล้วมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเป็นคนคุณภาพก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนปัญหาเรื่องทีม อรว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องเคยเจอกันมาบ้างอยู่แล้ว มีเรื่องที่ทำผิดพลาดหรือเสียใจอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ถ้าย้อนความทรงจำดู ก็พบว่ามีความทรงจำดีๆ อยู่เยอะแยะมากกว่า โดยภาพรวมแล้วเราคิดว่าเราเองก็เป็นคนที่โชคดีมากๆ คนนึงที่เคยได้ร่วมงานกับคนดีคนเก่งมาหลายคน กับทีมรุ่นเก่าๆ แม้จะแทบไม่ได้คุยหรือ catch up มานานแล้ว แต่เอาจริงๆ ยิ่งเขาเหล่านั้นเป็นทีมรุ่นเก่า ทีมตั้งแต่เรายังเล็กและอ่อนมากเท่าไหร่ ความทรงจำกลับยิ่งชัดเจนทีเดียว

4. Original Content

เราได้พูดถึง Long-form Content ไปในข้อ 1. แต่ถ้าเราจะภูมิใจในงานไหนซักชิ้น เราไม่ได้ภูมิใจกับมันในเรื่องความยาว แต่เราจะภูมิใจกับมันที่สุด ถ้ามันเป็น Original Content คือคอนเทนต์ที่เราเขียนเอง จากความคิดความอ่านและการตกผลึกของเราเอง ซึ่งมันควรจะ Unique และไม่บังเอิญซ้ำกันได้ง่ายๆ มันจะมีบางคอนเทนต์ที่มีอ้างอิง References ต่างๆ อยู่เยอะ แต่บางคอนเทนต์ก็เกิดจาก Aha! moment หรือการค้นพบ หรือการทดลองส่วนตัว และแบบหลังนั่นคือ Original Content สำหรับเรา

ผลงานที่เราภาคภูมิใจแบบสุดๆ ที่อยากขอนำเสนอเลยก็คือ “คอร์สเรียนสาย Content Writing” ที่เราพัฒนาขึ้นมา คือเราออกแบบคอร์สนี้ด้วยตัวเองเลย โดยดูจากเนื้องานว่าวันๆ เราทำอะไรบ้าง Aha! moment ในอดีตของเรามีอะไรบ้าง เราเคยไม่รู้หรือไม่มั่นใจเรื่องอะไร ถ้าเราต้องสอนตัวเองตอนเด็กๆ เราจะสอนอะไร และถ้าเราต้องสอนทีมของเราเอง เราจะสอนอะไร  ทำ Workshops กับตัวเองเยอะนะ กว่าจะออกแบบมา

จนถึงตอนนี้ หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบหลักสูตรใหม่มาทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเปิดตัวปี 2017 ในชื่อ Becoming A Great Digital Writer เป็นหลักสูตรออนไลน์ เนื้อหาความยาว 5 ชั่วโมง อัปเดตใหม่ครั้งที่สองปี 2018 ในชื่อ Digital Content Writing เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาให้เหมาะสอนแบบคลาส เนื้อหาความยาว 6-7 ชั่วโมง และอัปเดตครั้งที่สาม ปี 2021 ในชื่อ Digital Content Writing Certification สอนได้ทุกฟอร์แมต เนื้อหาความยาวเยอะมากจัดเต็มคือ 10 ชั่วโมง โดยมีสาม Modules หลักๆ ได้แก่ Content Writing for Beginners, Digital Copywriting และ SEO Content Writing

คอร์สเวอร์ชันสามนี้ ตอนนี้ยังมีจำหน่ายอยู่ที่ Content Shifu และ Partner Platforms อยู่จนถึงสิ้นปีนี้ (2022) นะคะ เขียนไปเขียนมาเหมือนเขียนขายของซะงั้น 55 คือแค่อยากบอกว่า ชั้นภูมิใจของชั้นอะ!  ส่วนหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ลองติดตามกันอีกทีได้ค่ะ

ฝันที่ยังไม่เป็นจริง…

ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม

ปี 2018 เราได้ไป Pitching นำเสนอไอเดียนวัตกรรมในโครงการหนึ่ง จนได้รับเลือกแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ติดปัญหาระหว่างทาง จนทำให้ไม่ได้ทำนวัตกรรมนี้ต่อ

แต่มาจนถึงตอนนี้ เรายังไม่สามารถเอ่ยได้เต็มปากเสียทีว่าเราเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน แต่เรายังไม่ได้สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือนวัตกรรมในเชิงโมเดลธุรกิจก็ไม่ได้ใหม่นัก

ต้องบอกว่าความตั้งใจของเรา (ในตอนตัดสินใจควบรวมกิจการก็ด้วย) นั่นเป็นเพราะว่าอยากให้มี Resource ทำสิ่งที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็คือ อยากทำนวัตกรรมน่ะแหละ เพราะงั้นที่ผ่านมา 6 ปี สิ่งที่สำเร็จก็ยังไม่ได้แตะฝันใหญ่ที่แท้จริง

ผู้สร้างสรรค์ Trademark แนวคิดและโมเดลใหม่ๆ

ช่วง 2018-2019 เราทำผลงานในเชิงการเขียนหนังสือ ทำ Trends Report และทำ Playbook 
ช่วง 2020 เป็นต้นมา เราเน้นทำ Internal Knowledge Base และ Internal Assets เพื่อ Improve Process

เราเป็นผู้เผยแพร่ Inbound ก็จริง แต่เราก็ไม่ใช่เจ้าของ Trademark นี้ บริษัทที่เป็นเจ้าของ Trademark และแนวคิดนี้คือ HubSpot Inc. ส่วนเราเป็นเพียง Local Distributor ผู้โด่งดัง เท่านั้นเอง เราทำ Original Content ใหม่ๆ เรื่อยๆ ก็จริง แต่มันยังไปไม่ถึงขั้นคิดค้นสูตร หรือเทคนิคใหม่ๆ หรือมีวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่อย่างน่าทึ่ง จนสามารถจดทะเบียนอะไรเป็นจริงจังได้ ลึกๆ อรอยากทำมาก แต่เราก็เหมือนจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น

คิดทบทวน

Job Title ที่ดูเท่ อย่าง Co-Founder หรือ Director ใดๆ ที่เราอยากได้มาตลอด อาจไม่ได้มาพร้อมกับโอกาสที่ดีที่สุด หรือเหมาะกับเราที่สุด ณ ที่นั้น เวลานั้น เสมอไป ก้าวถัดไปของเรา คงอยากโฟกัสที่ “ตัวตนที่อยากจะเป็น” และ “ผลลัพธ์/อิมแพคที่อยากจะสร้าง” มากกว่าสิ่งเร้าอื่นๆ ที่ทำให้หลงทาง

ถ้าให้เราเขียนรีวิวจากใจจริง ที่เราอยากจะบอกก็คือ เราคิดว่าเราไม่ได้สำเร็จอะไร มีสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จอยู่มากมาย มีเรื่องที่รู้สึกล้มเหลวหรือผิดหวังก็เยอะ น่าคิดว่า 4 ข้อที่เราเขียนไปในหัวข้อ “ภาคภูมิใจที่สุด” นั้น มันสำเร็จหรือเริ่มเห็นผลตั้งแต่ 1-2 ปีแรกแล้ว …ช่วงสองขวบเป็นต้นไป…ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีผลงานนะ เพียงแต่เราว่ามันก็ไม่สำคัญเพียงพอจริงๆ ดูเหมือนว่าความสำเร็จของบริษัท กับความสำเร็จของเรา จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันแล้ว

พอเราทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ปลายปี 2019 (ประมาณหนึ่งปีครึ่ง หลังจากที่มาทำกิจการเต็มตัว) เราค่อนข้างมั่นใจว่าเราคงต้องขอ Move on ต่อในรูปแบบอื่น (ซึ่งรูปแบบที่เราเลือกสนใจคือการไปเรียนต่อต่างประเทศ) และได้แจ้งกับหุ้นส่วน รวมไปถึงทีมงานทุกคน บุคคลภายนอกอาจจะไม่ค่อยทราบ แต่เรื่องที่เราจะออกจากบริษัท เราสื่อสารกับทีมและเตรียมการล่วงหน้ามาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ซึ่งมันก็นานจริงๆ ช่วง 2020-2022 ทีมใหม่ๆ ที่เข้ามาเลยทราบช้ากันไป และอาจดูเหมือนกะทันหัน

ถ้าเล่าเพิ่มอีกหน่อย 2020 ที่มี Covid เกิดขึ้นก็ทำให้เราเป็นห่วงทีมและบริษัทมากเหมือนกัน ปีนั้นพยายามเปลี่ยนโมเดลและปรับตัวกันหลายเรื่อง การเรียนต่อของเราเลยชะลอและชะงักไป ส่วนนึงเพราะโควิดเลยทำให้ไปไม่ได้ด้วย และอีกส่วนนึงก็คือความห่วงหน้าพะวงหลังนี้แหละ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าเดิมทีรูปแบบการลาศึกษาต่อของเรา ที่มองในตอนนั้น จะไม่ได้มองโมเดลให้ออกมาเหมือนอย่างที่เป็นจริงในตอนนี้ (ออกหมดจากการบริหารและการถือหุ้น) แต่บางทีการที่เป็นแบบนี้อาจดีแล้วก็ได้ หลังจากนี้ก็จะไม่ต้องพะวงหลังแล้ว มีแต่การมองไปข้างหน้าเท่านั้น

ส่งท้าย

อยากขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่ผ่านเข้ามาอยู่ใน Journey 6 ปีของเราที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาผ่านๆ หรือ เคยร่วมงานกันจริงจัง ทุกๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ดีหรือร้าย ณ ตอนนี้เราคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมดีเสมอ เพราะเราได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตเพิ่มขึ้นมาเยอะมากเลยจริงๆ ในทางกลับกัน ถ้าเส้นทางที่ผ่านมา อรได้ทำอะไรให้ใครไม่สบายใจ หรือทำผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

เราพร้อมที่จะเดินหน้าต่อแล้ว เราเองก็หวังว่าทุกคนจะเดินหน้ากันต่ออย่างดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะยังได้รับกำลังใจจากทุกคนให้สร้างสรรค์และทำอะไรเจ๋งๆ ออกมาใหม่นะคะ