ตัวอย่างของแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น ALS ice bucket challenge

…แค่สาดน้ำเย็นเนี่ยนะ? นั่นคือสิ่งที่เราคิด ตอนที่ได้ยินเรื่องราวครั้งแรก

แต่เชื่อไหมคะว่า เจ้าองค์กรการกุศล ALS Association นี้ สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ถึง 5.7 ล้านเหรียญภายใน 2 สัปดาห์!! แคมเปญตัวนี้สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้มหาศาล และยังกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงโรค ALS นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าศึกษา

สิ่งที่คนที่เล่น challenge นี้ทำกันคือ การเตรียมถังใส่น้ำเย็นยะเยือกปานน้ำแข็ง แล้วเทน้ำราดลงหัวตัวเอง! พร้อมกับถ่ายวีดีโอไว้ซะ จากนั้นภารกิจก็คือพวกเขาจะต้องท้าทาย ชักชวนเพื่อน ให้ทำตามให้ได้อย่างน้อย 3 คน ภายใน 24 ชม. ซึ่งหากทำไม่สำเร็จ จะต้องช่วยบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโรค ALS

แคมเปญนี้ดึงดูดความสนใจของคนได้อย่างไร?

1. มันไม่ยาก และใช้ความบ้าไม่มากไม่น้อยเกินไป

เกมนี้เล่นได้ง่ายมาก ของที่ต้องใช้มีแค่ ถังน้ำ น้ำเย็นมากๆ อุปกรณ์ถ่ายวีดีโอ สิ่งที่ต้องทำมีแค่เตรียมของเหล่านั้น ราดน้ำใส่หัวตัวเอง แล้วโพสต์วีดีโอ ซึ่งใช้เวลาไม่มาก ทรมานไม่มากไม่น้อยเกินไป

จะเห็นได้ว่า ความเรียบง่าย เป็นคีย์เวิร์ดของเกมนี้

2. มันสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง

มันไม่ใช่แค่การแชร์คลิปคลิปเดียวซ้ำๆไปมา แต่วีดีโอในแคมเปญนี้ล้วนแตกต่างกัน ต่างคนก็ต่างสร้าง

ผู้ท้าทายสามารถใส่ไอเดียลูกเล่นของตัวเองลงไปได้ เพื่อให้วีดีโอของเขาดูแตกต่าง น่าสนใจ น่าสนุก

สิ่งเดียวถือเหมือนกันคือกติกา และ hashtag #icebucketchallenge

3. ความรู้สึกดีๆที่ส่งต่อกัน

การเห็นเพื่อนตัวเองแสดงอาการหนาวสะท้านซี้ดซ้าดทรมาน นับว่าเป็นความตลกดีมิใช่น้อย คล้ายๆกับการชมวีดีโอขำๆใน America’s Funniest Home Videos ในขณะเดียวกัน การที่ผู้ท้าทายก็ได้มอบความบันเทิงให้แก่ผู้อื่น ก็นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ช่วงเวลาที่คุณได้เผชิญกับความหนาวสุดๆ พอร่างกายคุณเริ่มอบอุ่นขึ้น คุณก็จะรู้สึกเหมือนได้เป็นคนใหม่ ร่างกายคุณจะอบอุ่นขึ้น หัวใจคุณก็จะอบอุ่นขึ้นจากความสุขที่ได้แชร์สิ่งดีๆที่เกี่ยวกับการกุศล ฟังดูไม่เลวเลยใช่ไหมคะ

ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ แท้จริงแล้ว ผู้เริ่มต้นแคมเปญนี้ ไม่ใช่เจ้าตัวองค์กรการกุศลอย่าง ALS Association แต่กลับเป็นอดีตนักฟุตบอลนาม Peter Frates ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรค ALS

บางทีการที่แคมเปญได้รับความนิยม อาจเป็นเพราะมันเป็นเกมที่ให้คนได้เล่นด้วยกันเอง ไม่ใช่เกมระหว่างคนกับองค์กร

4. Fun and Free

จริงอยู่ที่ว่าแคมเปญมีเรื่องของการบริจาคเงิน แต่นั่นก็เป็นเรื่องของจิตศรัทธา ไม่ใช่การบังคับ ไม่มีการบังคับต้องจ่ายอะไรอย่างอื่น หรือต้องให้ข้อมูลส่วนตัวอะไรทั้งนั้น คุณแค่เลือกเอา ระหว่างร่วมเล่นเกมเทน้ำราดหัว ไม่ก็ช่วยบริจาคเงินไปเลย

คุณอาจคิดว่าคนคงไม่ยอมควักเงินกันง่ายๆหรอก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนหลายประเภทที่จะยอมร่วมบริจาค เช่น คนที่บริจาคเพราะเข้าร่วม challenge คนที่บริจาคเพราะอยากตามกระแสเฉยๆ รวมถึงคนที่มีจิตกุศลอยู่แล้ว ที่เกิดตระหนักถึงโรคนี้

ทริคสุดท้าย

จุดประสงค์ของบทความนี้ ไม่ใช่การบอกให้คุณเลียนแบบของเขา จริงๆแล้วคุณไม่ควรก็อปปี้หรือเลียนแบบแคมเปญที่เขาดังอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ให้เรียนรู้ที่มาที่ไปของมัน และเก็บไว้ประยุกต์กับไอเดียของคุณเองในอนาคต

#icebucketchallenge นั้นมีความสนุก และมีสาระแฝงอยู่ เป็น win-win situation ที่คนเล่นก็สนุก คนบริจาคก็รู้สึกอิ่มบุญ ผู้ป่วยก็ได้รับประโยชน์

นับเป็นอีกกรณีศึกษานึงที่น่าสนใจของการทำ campaign marketing