23 มกราคม 2562…หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเรา ชื่อว่า Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด เสร็จจากโรงพิมพ์เมื่อช่วงเช้า
บทความนี้เราเขียนขึ้นครั้งแรกในตอนนั้น เพื่อแชร์เบื้องหลังการเขียนหนังสือ โดยบางส่วนในบล็อกได้รับการอัปเดตเนื้อหาเพิ่มเติมภายหลังเพื่อแชร์มุมมองหลังเขียนมาแล้วซักพักหนึ่งด้วย
7 เรื่องเบื้องหลังการเขียนหนังสือ Inbound Marketing
1. ทำไมถึงเขียนหนังสือ Inbound
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีคือเราเขียนบทความสอน Inbound Marketing มาอย่างยาวนานแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวเว็บ Content Shifu เมื่อปี 2016 และบทความแรกที่สอนคอนเซปต์นี้นั้นเราเป็นคนเขียนเอง รวมถึงเขียนเวอร์ชันอัปเดตมาตลอดหลายปี
Inbound เกี่ยวข้องกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เพื่อดึงดูดคนที่ใช่ ที่สนใจอะไรเหมือนกันเข้ามาทำความรู้จักกันมากขึ้น
เราและ Content Shifu อยากสาธิตให้ทุกคนได้เห็นว่าการทำ Inbound Marketing ไม่จำเป็นต้องเป็นการตลาดออนไลน์อย่างเดียวเสมอไป การทำออฟไลน์ก็สามารถนำมาสู่ Inbound Marketing ได้ เช่น การจัดอีเวนต์หรือการไปพูดที่งานอีเวนต์หรือ Community ต่างๆ รวมถึงการเขียนหนังสือก็ด้วย
แม้จะชอบและทำการเขียนออนไลน์เป็นหลัก แต่เราเชื่อในพลังของหนังสือ การได้หยิบมันขึ้นมา ได้พลิกหน้าอ่าน มันได้ดื่มด่ำกับตัวหนังสือ และก่อให้เกิดความผูกพันมากขึ้น เราเชื่ออย่างนั้น
หนังสือไม่ใช่คอนเทนต์ฟรีเหมือนอย่างบทความออนไลน์ ดังนั้นการที่มีคนซื้อหนังสือของคุณนั่นเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าเขาสนใจในเนื้อหาเรื่องนั้น จริงๆ
«1-year update» อัปเดตเพิ่มเติมคือหลังจากที่เราเปิดตัวหนังสือไปได้หนึ่งปี กระแสตอบรับดีมาก และเห็นผลจริงๆ ว่ามีคนรู้จักเราและบริษัทมากขึ้นผ่านหนังสือ รวมถึงหลายๆ ท่านก็ convert ว่าเป็นลูกค้าจริงของบริษัทด้วย
2. ความฝันที่มากกว่าเรื่องงาน
ถึงแม้จะเขียนบทความออนไลน์มารวมๆ แล้วน่าจะมากกว่า 300 บทความ เราก็ยังคงใช้คำเรียกตัวเองว่านักเขียนออนไลน์มาโดยตลอด ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่า 'นักเขียน' เฉยๆ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะสมแล้วหรือเปล่า
ความจริงเรามีความฝันที่อยากจะเขียนหนังสือมาตั้งแต่ประถมแล้ว (สมัยเด็กๆ ฉันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน) …ใช้เวลาตั้งยี่สิบปีกว่าฝันจะเป็นจริง ได้เป็นนักเขียนจริงๆ แล้วนะ :)
3. การตีโจทย์เนื้อหาสำหรับหนังสือ
เราอยากให้หนังสือของเรามีความแตกต่างจากคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่เราทำมีสองอย่างคือ
1. ด้านเนื้อหา เนื่องจากเราเขียนออนไลน์มาก่อนแล้วหลายบทความมาก เนื้อหาในหนังสือจึงมีบางส่วนที่เคยนำเสนอเอาไว้ในออนไลน์บ้างแล้ว แต่เราควบคุมให้มีเพียงประมาณ 10-15% อีก 85-90% เป็นเนื้อหาใหม่ที่ยังไม่ได้นำเสนอทางออนไลน์มาก่อน นอกจากนี้ทุกบทยังผ่านการรีไรท์ อัปเดตเนื้อหา นำเสนอใหม่ เรามั่นใจว่าไม่มีบทไหนที่ซ้ำกับสิ่งที่เราเคยนำเสนอทางออนไลน์ แบบลอกกันมาแน่นอน
2. ด้านการนำเสนอ
หนังสือเป็นแนวสาระความรู้ แต่เราไม่ได้เขียนให้เป็นตำราเรียน อยากให้อ่านง่าย เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ จึงออกแบบเป็นเนื้อหาแบบกระชับ แต่ละบทมีความสั้นกระชับ และเขียนร้อยต่อกันมาเป็นหลายๆ บท เป็นเทคนิคเชิงจิตวิทยาอย่างนึงที่ทำให้คนไม่กลัวการอ่าน แปบเดียวก็จบบท ได้รับ sense of accomplishment และเขียนให้ร้อยเรียงกันเพื่อให้คนอยากอ่านบทต่อไป
4. ชื่อหนังสือ
ชื่อแรกที่ตั้งให้หนังสือเล่มนี้คือ "67 เคล็ดวิชาการตลาดแบบ Inbound" เลขเจ็ดกับเคล็ด มันคล้องจองดี แต่ในเวลาต่อมาก็ปรับเป็น 50 เคล็ดวิชา จากการคัดเลือกเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น ตัดส่วนที่อาจจะเป็นน้ำไปหน่อยออก
5. ทีมผู้เขียน
หนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนสามคน คืออร คุณแบงค์ คุณโบ ถ้าขาดคนใดคนนึงไป ก็คงไม่สำเร็จสมบูณ์เท่านี้ เราเริ่มจากการวางแผนเนื้อหาในหนังสือร่วมกัน ซึ่งก็คือวางแผนว่า 50 เคล็ดวิชาที่จะนำเสนอในเล่มมีหัวข้ออะไรบ้าง จากนั้นก็แบ่งหน้าที่กันว่าใครจะรับผิดชอบเขียนบทไหนบ้าง (โดยบาลานซ์ดูจากโหลดงานอื่นๆ ในบริษัทตอนนั้นด้วย) คุณแบงค์เขียน 22 ตอน คุณโบเขียน 10 ตอน ส่วนอรเขียน 18 ตอน บวกเนื้อหาอื่นๆ ในเล่ม และเป็น Project Manager ให้กับโปรเจกต์นี้
ข้อดีของการมีนักเขียนหลายคนคือ 1. แบ่งกันเขียน 2. ช่วยกันเร่ง ช่วยกันตาม และผลักดันให้งานออกมาเสร็จ เพราะหนังสือมันเป็น side project อะเนอะ มันไม่ใช่งานหลัก การเขียนหนังสือเป็นงานที่ต้องใช้วินัยสูงมาก เพราะเราต้องหาเวลาส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้า ช่วงก่อนนอน ช่วงวันหยุด
6. ทีมเบื้องหลัง
ถึงแม้ข้อที่แล้วอรจะบอกว่าตัวเองเป็น Project Manager ก็ตาม แต่บทบาทอรเยอะสุดในช่วงแรก คือการติดต่อหาสำนักพิมพ์ พูดคุยคอนเซปต์กัน และคุยดีเทลในเรื่องสัญญา
ในระหว่างทางเรามี น้องต้า น้องในทีมคอนเทนต์ของเรา ก็มีส่วนช่วยในการเป็น Project Coordinator มาช่วย Proofread และช่วยประสานกับทาง บ.ก.
ข้อที่แล้วเราพูดถึงข้อดีของการมีนักเขียนหลายคนไป แต่ข้อเสียก็มีคือ นักเขียนแต่ละคนต่างมีสไตล์ภาษาในแบบตัวเอง ทำให้คนอ่านพอมาอ่านรวมทั้งหมด เขาอาจจะรู้สึกว่ามันดูไม่ใช่ภาษาเดียวกันทั้งเล่ม โชคดีที่บรรณาธิการหนังสือเองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเกลาให้ภาษาทั้งหมดกลางๆ ไม่ออกเป็นตัวของแต่ละบุคคลมากนัก
ว่าแต่คุณเดาออกไหมว่าใครเขียนบทไหน :P
นอกจากทีมคอนเทนต์แล้ว ทีมกราฟิกเองก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย พวกเราตัดสินใจออกแบบหน้าปกหนังสือกันเอง ซึ่งเราจัดเกมการแข่งขันกันในบริษัทให้น้องๆ ในทีมกราฟิกทุกคนร่วมส่งผลงานเข้าประกวด สุดท้ายผลงานของน้องนุช ได้รับการเลือกให้มาเป็นปกเล่มจริง
7. คำนิยมในเล่มจริง ถูกย่อลงมาจากที่เขียนจริง
อยากบอกว่า พี่ๆ ที่เขียนคำนิยมให้กับพวกเรา ทุกคนตั้งใจเขียนมากๆ น่าเสียดายที่ของจริงที่คุณได้เห็นนั้นผ่านการย่อมาแล้ว (เพราะปกหลังมีเนื้อที่ไม่พอ v_v)
พี่ๆ ที่ได้ให้เกียรติเขียนคำนิยมให้กับเรา ได้แก่
- พี่แท๊บ รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และเจ้าของเพจ Mission to the Moon
- พี่อ้อ พรทิพย์ กองชุน ผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta.com และอดีตผู้บริหาร Google ประเทศไทย
- พี่ตุ๊ก ณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้ง Marketingoops.com
- ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด (MBM English) Chulalongkorn Business School
- พี่ปอง จักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการบริษัท Moonshot Digital
- พี่ป้อม ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)
สุดท้ายนี้อยากบอกขอบคุณทุกคนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ ทีมงาน และผู้ให้การสนับสนุนทุกคน ขอบคุณสำหรับโอกาส และฝันเสี้ยวนึงที่ได้เป็นจริง ฝันต่อไปคือการออกหนังสือเล่มใหม่อีกครั้ง ครั้งหน้าอยากเขียนเองทั้งเล่ม และอยากเขียนอะไรที่ไม่ใช่เรื่องงานตรงๆ บ้างแฮะ ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่าเราเหมาะจะเขียนอะไร ฝากทักมาบอกกันได้นะคะ