4 ปีของเราพบว่า มหาวิทยาลัยไม่เคยสอนให้ใช้กระดาน …..ต้องบอกว่านอกจากจะไม่ได้สอนให้ใช้แล้ว ยังทำให้เราหลงลืมไปเลยด้วยซ้ำ ชีวิตอยู่ติดกับสไลด์ อาจารย์สอนพวกเราโดยใช้สไลด์ และอาจารย์ก็ให้พวกเรานำเสนอโดยใช้สไลด์ เราทำสไลด์นับหลายสิบ แต่ได้จับกระดานแค่เสี้ยวหลักหน่วย แล้วปัญหามันคืออะไรน่ะหรอ? วันนี้มีเรื่องจะมาเล่าให้ฟัง

เรื่องแรกนี่เกี่ยวกับ Startup เลย…เป็นเหตุการณ์ตอนที่เราและทีม SHIPPOP ไปคุยเจรจาธุรกิจกับบริษัทขนส่งรายใหญ่เจ้าหนึ่ง เขามีบริการที่หลากหลายครอบคลุม ทว่า..มีรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างตึงสำหรับลูกค้าธุรกิจ และในขณะที่คำถามและคำตอบเรื่องราคาและบริการถูกขว้างกันไปมาระหว่างสองฝ่าย ความเข้าใจไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเลย และดูเหมือนสถานการณ์จะชวนปวดหัว …จังหวะนี้เองที่พี่ป้อมของทีมเราได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้แล้วกล่าวว่า “ผมขอใช้กระดานหน่อยนะครับ”

สิ่งที่เราทึ่งมีอยู่สามอย่าง อย่างแรกคือการที่เขาสามารถเรียบเรียงข้อมูลที่ขว้างกันไปมาตะกี้ มาอยู่ในรูปแบบกระดาน (table) ตั้งแต่ในหัวแล้ว ทันทีที่จับปากกา พี่แกก็วาด table แล้วเรียบเรียงข้อมูลลงไป และ table ก็ใช้เวลาวาดเร็วมาก เวลาที่ใช้มือเขียน ไม่ใช่เวลาที่ใช้คอม อย่างที่สองคือความเข้าใจที่ดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ –เราทั้งหมดเห็นภาพที่ตรงกัน คุยกันเข้าใจมากขึ้น ชี้ที่ field ใน table แล้วถาม ตอบคำถามที่ field ใน table ตรงจุดขึ้น ไม่ใช่แค่ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น แต่บรรยากาศก็ดีขึ้นมากด้วย เรื่องที่สามคือสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ

เราเริ่มเป็นฝ่ายที่คุมบทสนทนา เพราะเราเป็นฝ่ายที่ยืนขึ้น แถมยังถือของกลางอย่างปากกาและกระดานเอาไว้

ตั้งแต่โมเมนต์ที่เริ่มใช้กระดานนี่แหละที่เราเห็นว่าอะไรๆมันก็ดี๊ดีขึ้น ความเข้าใจเอย บรรยากาศเอย บทสนทนาเอยก็คุยได้ลื่นขึ้น เป็นทางการน้อยลง

ถ้ายังรู้สึกไม่ชัดว่าคำว่าบรรยากาศการทำงานดีขึ้นเป็นยังไง เรื่องที่สอง น่าจะพอยกตัวอย่างได้ เพิ่งเมื่อวานนี้เองแหละ ในทีม ของเรามีการมีตติ้งกันเรื่องแผนงาน content ด้วยความที่เราทำงานหน้าคอมอยู่แล้ว เราก็ใช้คอมทำสไลด์ไป โดยที่เราหลงลืมไปเรื่องนึง …เวลามีตติ้งเนี่ย มันคือการเสนอไอเดียและแลกเปลี่ยนกันถูกไหม bullet points บนหน้าจอ ไม่นำไปสู่ productivity สุดท้ายพี่เขาก็เลยชวน move กันมา brainstorm บนกระดาน บนกระดานนี่เองเป็นที่ๆ collaboration เกิดขึ้นได้ บรรยากาศก็สบายๆขึ้นเยอะ ไอเดียน่ารักๆก็เกิดขึ้นได้ง่ายดายและรวดเร็ว

ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ จริงๆเราจะรู้ได้ว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง ก็จากสิ่งที่เขาเขียนบนกระดานนี่แหละ เรื่องที่สาม ที่เราจะเล่าเสริมก็คือ ตอนเราทำงานที่แรก มีโปรเจคที่ทำเกี่ยวกับ DTT Multiplex (งงล่ะเซ่) ซึ่งโคตรเฉพาะทางเลย เรากับเพื่อนคนนึงเข้ามาทำโปรเจคนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ตอนอ่าน report ต่างๆ เราว่าเราก็เข้าใจคอนเซปต์นะ แต่เรามาทราบจริงๆว่าความเข้าใจเราด้อยกว่าเพื่อนมาก ก็ตอนที่ต้องเขียนบนกระดานด้วยกันนี่แหละ เราเกิดอาการเงิบเล็กๆ ในขณะที่เพื่อนเราเขียนเรียบเรียงบนกระดานได้โอเคมาก จนถึงตอนนั้นเวลานึกถึงภาพเพื่อนเรา discuss กับเราตรงหน้ากระดานไวท์บอร์ดยังคงติดตาเราอยู่เลย มันเก่งว่ะ 55 ประทับใจเลยแหละค่ะ ^^

ที่เราเขียนเรื่องนี้เพราะอยากย้ำตัวเองว่าไม่ให้หลงลืม instinct ดั้งเดิมนี้ เพราะที่ผ่านมาเราก็ลืมมันไปจริงๆ ก็เข้าใจตัวเองแหละเพราะว่าเราก็มีความ geek เล็กๆ ชอบตั้งอกตั้งใจทำงานหน้าคอมมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เราเริ่มแยกแยะได้ดีขึ้นมากทีเดียว ว่าเมื่อไรควรใช้เครื่องมืออะไร เมื่อไร และเพราะอะไร

ข้อดีของกระดานก็อย่างที่ได้ไฮล์ไลท์ไป มันมอบ real-time experience มันก็เลยให้ experience ที่ดีกว่า แถมมันสร้าง collaboration ร่วมกันได้สะดวกกว่า แต่ข้อเสียของกระดานก็คือมันมักจะมีเฉพาะใน meeting room เท่านั้น มันเหมาะกับการเขียนในโมเมนต์นั้นเลย ไม่ใช่การเตรียมการล่วงหน้า แถมเก็บบันทึกเป็นไฟล์ก็ไม่ได้ ต้องถ่ายรูปสถานเดียว ในขณะที่สไลด์ข้อดีมันก็คือ มันเซฟเก็บไว้ได้ เป็นฟอร์แมตมาตรฐานโลก ส่งต่อให้ใครก็ได้ ดังนั้นจริงๆเราจะใช้สไลด์ด้วยมันก็ไม่ผิด แต่ให้มันเป็นที่ฉายภาพ วีดีโอ หรือเป็นโน๊ตกันลืมของเราก็พอ

เมื่อถึงเวลาเราควรจะรู้ว่า การใช้สไลด์ไม่ได้สำคัญไปกว่าการใช้ทักษะการสื่อสารแบบบ้านๆ สไลด์เป็นวัตถุ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆคือคนที่เราคุยด้วย 🙂