…งานในปัจจุบันของอร คือการเป็นผู้จัดการ

เมื่อวันที่เราต้องถือบทบาทผู้จัดการและผู้ประกอบการ เราพบว่ามีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เยอะมาก เยอะมากจนกองเป็นภูเขาเลากา

แน่นอนว่าเรื่องของ Management และ Leadership Skills อยู่ในภูเขากองนั้นด้วย และด้วยความที่อยู่ในสายงานดิจิทัล ก็จะมีเรื่อง Hard Skills ในสายงานอยู่ในภูเขากองนั้นด้วยเช่นกัน

แต่มีอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่เราหยิบใส่ในตารางเรียนรู้ของเราด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง ’Design’

…หือ Design? ดีไซน์เนี่ยนะ?

คุณคงนึกแปลกใจว่า การเป็นผู้จัดการมันเกี่ยวอะไรกับดีไซน์ ดีไซน์เป็นงานของดีไซเนอร์หนิ? และเราก็ควร ”Put the right man on the right job” ไม่ใช่หรอ

…แต่เราก็ยังอยากขอยืนยันคำเดิมอยู่ว่าเราพูดถึง Design จริงๆ ค่ะ

โดยเหตุผลหลักๆ เราขอแตกออกมาเป็นสองเรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

ดีไซน์มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจยุคใหม่

ในยุคที่ร้านกาแฟแต่ละร้านแทบจะไม่ต่างกัน สบู่แชมพูยาสีฟัน ฯลฯ ทุกๆ อย่างแทบจะไม่ต่างกัน หากมีใครสร้างความโดดเด่นหรือแตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเองได้ คนนั้นคือผู้ชนะที่จะไปต่อ

มาดูในฟากสถิติกันบ้าง อาชีพดีไซเนอร์ในธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจสายดิจิทัล) เป็นอาชีพที่มีการเติบโตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิงจากรายงาน Design in Tech Report ฉบับปี 2017 ได้ระบุถึงสถิติจากทาง LinkedIn ว่า Design Talents เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในวงการเทค/ดิจิทัล บริษัทชั้นนำอย่าง Facebook, Google และ Amazon มีจำนวน Headcounts ของตำแหน่งที่เกี่ยวกับดีไซน์พุ่งสูงขึ้นถึง 65% ภายในปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก

เราเรียกธุรกิจนั้นว่า Design-Centric หากมีการจ้างดีไซเนอร์และมองเห็นความสำคัญของงานดีไซน์ แต่ในระดับขั้นที่สูงกว่านั้น ยังมีคำว่า Design-Committed, Design-Mature และ Design-Unicorns อีกด้วย

ทั้งนี้เพราะปัจจุบันนี้ Design ถูกได้รับการยอมรับว่าสามารถนำไปใช้งานได้หลายส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็น..

  • การออกแบบโลโก้ อัตลักษณ์ และ Branding
  • การออกแบบสินค้า (Product Design)
  • การออกแบบโซลูชันส์ในการแก้ไขปัญหา (Design Thinking)
  • การออกแบบประสบการณ์ (User Experience Design)
  • การออกแบบ Visual Design และ Communication Design ต่างๆ

จะเห็นได้ว่า Design นั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของความสวยงาม (Visual) เพียงอย่างเดียว รวมถึงบทบาทยังสามารถแยกย่อยไปสู่หลากหลายแผนกในบริษัทเลยทีเดียว

แรกเริ่มเดิมที พอพูดถึงคำว่า ‘ดีไซน์’ เราเชื่อว่าภาพแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นภาพที่ ‘ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง’ กับการวาดภาพระบายสี เหมือนอย่างรูปนี้ที่เราใส่ไว้ตอนแรก

…ในความเป็นจริงแล้ว ดีไซน์มีอะไรที่มากกว่าหน้าตาและสีสัน ซึ่งเราได้รีวิวให้ทุกคนเห็นแล้วว่ามีอะไรอีกบ้างที่เป็นไปได้ผ่าน Bullet list ด้านบนเมื่อซักครู่

ในเมื่อ Design เริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างมากกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความสวยงาม (ที่เน้นอารมณ์) หรือในด้านฟังก์ชัน (ที่เน้นความเป็นเหตุผล) คนที่เป็นผู้จัดการ ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจในโปรเจกต์งาน จำเป็นต้องเข้าใจ แยกแยะได้ และสามารถตัดสินใจในเลือกดีไซน์ได้อย่างชาญฉลาด

พูดง่ายๆ คือ ดีไซเนอร์ยุคใหม่ต้องเก่งขึ้น ผู้จัดการเองก็ต้องเก่งขึ้นเพื่อทำงานกับพวกเขา หรืออีกเคสคือ เนื่องจากในไทยเราอาจจะยังไม่ได้จ้างงานดีไซเนอร์กันอย่างจริงจังเหมือนในต่างประเทศ หน้าที่อย่างการออกแบบ Branding การออกแบบโซลูชันส์ ฯลฯ จึงตกมาเป็นหน้าที่ของผู้จัดการด้วย

เราเชื่อว่า Design Principles เป็นอีกความรู้พื้นฐานที่จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น เปรียบเทียบได้กับคนที่เก่งภาษาอังกฤษหรือเก่งเลขก็จะเป็นคนที่มีพื้นฐานที่ดีที่ต่อยอดทำอะไรหลายอย่างต่อได้ง่าย

Mindset ด้านดีไซน์ ช่วยให้คุณเป็นผู้ใหญ่และมืออาชีพที่คมยิ่งขึ้น

เราสังเกตคนรอบตัวที่เป็นดีไซเนอร์มาซักพักแล้ว เราพบว่าคนกลุ่มนี้มักจะมีรัศมีของความเป็นมืออาชีพและนักแก้ปัญหาอยู่ในตัว คนเหล่านี้มักจะละเอียด และถามคำถามที่เราไม่ค่อยนึกถึง

ความจริงแล้วพี่โบ ไกรวณิช ดีไซเนอร์และพาร์ทเนอร์ที่อรทำงานด้วยเคยเขียนบทความ ทำไม Startup ถึงควรมี Designer เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เอาไว้แล้ว ซึ่งเล่าเรื่องนี้ในมุมของดีไซเนอร์ แต่อรขอถือโอกาสในฐานะของ ‘คนที่ไม่ใช่ดีไซเนอร์’ มาทำหน้าที่เขียนใหม่ในความคิดและภาษาของตัวเองนะคะ

Design เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา

พูดตามตรง บางครั้งเราก็ไม่ค่อยได้แก้ปัญหาให้คนอื่นหรอก แก้ \’ความคัน\’ ของตัวเองมากกว่า พฤติกรรมการอยากทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ คงเป็นพฤติกรรมพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์อย่างเรามา บางครั้งเราพบว่าเวลาที่ตัวเองอยู่ในสภาะเร่งรีบหรือเครียด ก็มักเจอเผลอแก้ปัญหาผิดจุด

การเรียน Leadership จะช่วยให้เราแก้ปัญหาเรื่องคน โดยเฉพาะทีมงานได้ แต่ในสุดท้ายคนที่ใหญ่ที่สุดในทุกๆ เรื่องก็คือ ‘ลูกค้า’ ซึ่งดีไซเนอร์คือผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ฉะนั้นหากเรารู้จักสลับหมวกไปมาโดยสวมหมวกดีไซเนอร์ไว้บ้างในเวลาที่ถูกต้อง เราเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญของการเป็นผู้จัดการที่ดียิ่งขึ้น

Design ช่วยให้เราคิดทั้งด้วยอารมณ์และเหตุผล

อีกหนึ่งในคุณสมบัติที่ผู้จัดการต้องมีคือความสามารถด้าน Decision Making หรือการตัดสินใจ

หากรู้สึกตัวว่าเป็นคนที่ตัดสินใจได้ไม่เก่งเท่าไร การเรียน Design ก็เป็นอีกขานึงที่สามารถช่วยได้ โดยฝึกวิเคราะห์ทั้งหลักเหตุผลและหลักอารมณ์เพิ่มขึ้น

Design เกี่ยวข้องกับ Communication

นักออกแบบก็คือนักสร้างสรรค์สื่อที่ใช้ในการสื่อสารให้กับผู้รับสาร ซึ่ง Job Description นี้ตรงกับบทบาทหน้าที่ของผู้จัดการเช่นกัน

ผู้จัดการคือบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสื่อสารเยอะมาก และเป้าหมายก็คือทำให้ผู้รับสาร ‘เข้าใจ’ หรืออาจไปถึงระดับ ‘ประทับใจ’ ในสารนั้นๆ

ในแต่ละวัน ผู้จัดการมีโจทย์ยากๆ ที่ต้องอธิบาย ต้องสื่อสารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น..

  • การอธิบายถึงเป้าหมายให้ชัดเจน
  • การโยงจากเป้าหมายมาสู่ Actions ของทีม
  • การสื่อสารกับคนสมัครงานในการเข้ามาทำงาน (Recruiting)
  • การพรีเซนต์ธุรกิจ
  • การสื่อสารทั่วไปในบริษัทเพื่อให้งานราบรื่น

ไม่ว่าผู้จัดการจะนำการสื่อสารไปใช้เอง หรือนำการสื่อสารมาใช้กับเพื่อนร่วมทีมให้ทำงานต่อ การมีหัวทางด้านดีไซน์เอาไว้บ้าง เพื่อให้การสื่อสารราบรื่นและเข้าใจง่ายนั้น เป็นเรื่องสำคัญ

ตัวอย่าง

สมมติเป็นเคสของการทำ Presentation หนึ่งชิ้นเพื่อสื่อสารงาน แม้ว่าดีไซเนอร์จะมีหน้าที่ออกแบบสื่อต่างๆ ก่อนมันออกไปปรากฏสู่ผู้บริโภค และก่อนจะถึงขึ้นตอนนั้น ดีไซเนอร์จำเป็นต้องได้รับบรีฟที่ดีก่อน

จำได้ว่ามีอยู่ช่วงแรกๆ ที่น้องดีไซเนอร์บอกว่าเราทำบรีฟส่งให้เขาได้ดี ต่อมาก็มีอยู่จุดนึงที่ได้ฟีดแบ็กว่าบรีฟไม่ดีเหมือนช่วงแรก ซึ่งตีความหมายได้ว่าเรายังไม่ได้มีทักษะด้านนี้ที่คงเส้นคงวานัก

การบรีฟงานถือเป็นทักษะในการสื่อสารอย่างหนึ่ง ความสำคัญของการสื่อสารที่ดี คือการทำให้งานเสร็จได้ราบรื่นขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดอยู่แล้ว และก็คงรู้สึกเสียใจถ้าเหตุของการติดขัดมันมาจากการที่เราเป็นคนที่ Manage หรือ Facilitate ได้ไม่ดีเอง

Design คือการช่างสังเกต + การทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

เราอยากแชร์ถึงข้อนี้เพราะเราเองก็เพิ่งพบปัญหาบางอย่างมา

ในฐานะ Project Manager งานของเราคือต้องคอยบริหาร Timeline ของงาน การทำให้ทุกอย่าง Done ให้เร็วที่สุด คือสิ่งที่เราปรารถนา ล่าสุดเราพบว่าแนวคิดนี้ไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทขนาดเล็กที่ Project Manager มักมีบทบาทอีกหลายอย่างด้วย เช่น การ QA หรือตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น

ที่ผ่านมามีบ้างที่เราผิดพลาดในเรื่องของการที่ต้องทั้ง ‘ทำให้ทัน’ และ ‘ทันอย่างมีคุณภาพ’ ด้วย สิ่งที่เราต้องการจะเพิ่มให้กับตัวเองเพิ่มเติม ก็คือความเป็น ‘Eagle Eye’ หรือผู้จัดการที่ช่างสังเกตและสามารถลงดีเทลได้อย่างงดงาม

หากเป็นเช่นนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เพิ่มเติมก็คือ “การรู้จักชี้ให้คนเห็นถึงปัญหาเล็กๆ ที่สามารถแก้ไขได้” จะได้เป็นการช่วยให้ทีม ไม่ใช่แค่เพียงทำงานพอเสร็จเท่านั้น แต่ดึงศักยภาพตัวเองออกมามากขึ้นด้วย

แถมวิดีโอที่พูดถึงความสำคัญของการสังเกตกับการดีไซน์ รับชมได้ที่ https://www.ted.com/talks/tony_fadell_the_first_secret_of_design_is_noticing

สรุปส่งท้าย

เหตุผลที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเราคิดว่า Design กับ Manager เป็นอะไรที่ดูต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่จากประสบการณ์หลายๆ เดือนที่ผ่านมาที่ได้ทำงานกับ Partner ที่เป็น Designer เรายอมรับว่าเราเห็นจุดเด่นหลายๆ อย่างในตัวของเขา (พี่โบ) การสังเกตของเราพบว่าความรู้ความเข้าใจด้านดีไซน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้จัดการที่ดี

ซึ่งในขณะนี้เรายังไม่มีสถิติที่รองรับอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์นี้ และสำหรับตัวเราแล้ว ตอนนี้กำลังอยู่ใน \’ช่วงเริ่มต้นศึกษา\’ เท่านั้นเอง ดังนั้นเราตั้งใจว่าภายในหนึ่งปีหลังจากนี้ เราจะกลับมาอัปเดตบล็อกนี้ (หรือเขียนบล็อกใหม่เพิ่มอีกตอน) อีกครั้งเพื่ออัปเดตให้ทุกท่านทราบว่าเมื่อเราได้เรียนดีไซน์แล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง